ข้อมูลจากกองวัณโรคระบุว่า มีผู้ป่วยวัณโรค 111,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 72,274 รายเท่านั้นที่มีการขึ้นทะเบียนเข้าสู่การรักษา ส่วนที่เหลืออีก 38,726 รายเป็นกลุ่มที่ไม่มีการรายงาน/ไม่ได้รับการวินิจฉัย ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดระบุว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 13,700 ราย
ประเทศไทยโดยการผสานกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวมถึงการสนับสนุนจากองก์กรนานาชาติ แม้จะสามารถเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง และมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคลดลงตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด
“มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก โดยใช้แนวทาง RRTTPR คือ Reach การเข้าถึง – Recruit การรับเข้าระบบบริการสุขภาพ – Test การตรวจวินิจฉัย – Treat การรักษา – Prevent การป้องกัน และ Retain การดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึง ข้ามกำแพงภาษา สร้างความไว้ใจ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสิทธิอื่นๆ อย่างเท่าเทียม เราได้ดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) พัฒนาความรู้ให้สามารถทำหน้าที่สนับสนุนงานบริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทย เป็นตัวแทนในการสื่อสาร ทำให้การดำเนินงานสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น และทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมถึงสิทธิพื้นฐานอื่นๆ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วย” ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ ฉายภาพการดำเนินงานด้านการยุติวัณโรค และงานส่งเสริมด้านสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทย
อสต. เป็นตา เป็นปาก เป็นหู เป็นกำลังสำคัญในการยุติวัณโรค
อสต. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ มีบทบาทอย่างไรบ้าง? วันนี้เราจะมาทำความรู้จักพวกเขากับภารกิจภายใต้ “โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR 2021-2023” พื้นที่ดำเนินงาน จ.เชียงราย
นายอนุชา มอพ่า ผู้ประสานงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ จ.เชียงราย กล่าวว่า “ถ้าจะเปรียบ อสต. เป็นอวัยวะในร่างกาย อสต. เปรียบเสมือนตาที่คอยมองคอยเฝ้าระวัง เป็นปากที่คอยแจ้งเหตุ เป็นหูที่คอยฟังปัญหาของพี่น้องประชากรข้ามชาติ สะท้อนและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน อสต. เป็นคนที่อยู่ในชุมชน อาสาสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับทีมงานภาคสนาม ให้ความรู้ด้านสุขภาพกับเพื่อนประชากรข้ามชาติ เป็นล่าม ให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงการเฝ้าติดตามการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามชาติที่อาจจะนำโรคติดต่อเข้ามาแพร่กระจายในชุมชน”
นางมล อายุ 46 ปี ผู้รับไม้ต่อการเป็น อสต. จากสามี “หากเราพบพี่น้องมีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อ เช่น เป็นวัณโรค ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ นำเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษา มีโอกาสร่วมกับเจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับพี่น้องในชุมชน และอีกหนึ่งความภูมิใจก็คือการได้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงกำกับการกินยาของผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน เตือนให้กินยาตรงเวลา การกินยาตรงเวลามีความสำคัญมาก หากกินยาไม่ตรงเวลาการรักษาก็ไม่ได้ผล และอาจเกิดวัณโรคดื้อยา รักษายากขึ้น ใช้เงินมากขึ้นในที่สุด”
หมี่ชู้ อายุ 32 ปี อีกหนึ่ง อสต. ที่มองว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น “ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 การได้เข้ามาเป็น อสต. ไม่ใช่เรื่องเหนื่อยค่ะ แต่กลับเป็นเรื่องสนุก และตัวหนูเองยังได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ เป็นการพัฒนาตัวเองด้วย ยิ่งถ้าเราได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก เรายิ่งมีความภาคภูมิใจและมีความสุขไปกับเขา”
วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ไม่ควรกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วยวัณโรค
“รู้สึกดีใจที่ได้รับความช่วยเหลือ ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลืออาจจะตายไปแล้วก็ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงหมอ และไม่ได้รับการรักษา ที่ผ่านมา อสต. และศุภนิมิตฯ เข้ามาช่วยเหลือทั้งพาไปรักษา ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ สนับสนุนค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล และยังได้รับการช่วยเหลือค่าตรวจหาเชื้อวัณโรคของลูกๆ เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลด้วยค่ะ ตอนนี้ทานยาเกือบครบแล้ว อาการป่วยวัณโรคหายทั้งหมดแล้วค่ะ” นางคำนวล ประชากรข้ามชาติชาวเมียนมา ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ จ.เชียงราย
“สำหรับครอบครัวของเรา มูลนิธิศุภนิมิตฯ เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางในยามที่เรากลัว เป็นความช่วยเหลือเมื่อเรามองไม่เห็นใคร ซึ่งมันเป็นมากกว่าความช่วยเหลือ มันเป็นความอุ่นใจและไม่โดดเดี่ยว” นางยิน ประชากรข้ามชาติชาวเมียนมา ที่เคยป่วยจากโรควัณโรค และได้รับความช่วยเหลือจาก โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ จ.เชียงราย กล่าวด้วยความสุขในวันที่หายป่วยวัณโรค
ยุติวัณโรค… เราทำได้
โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ และการสนับสนุนจากกองทุนโลก ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับเหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ พวกเขายังคงทุ่มเทอย่างเสียสละ เพื่อให้เพื่อนพี่น้องประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพ… อย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวถึงความสำเร็จในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมขับเคลื่อนและยุติวัณโรค
“ในปี 2023 ที่ผ่านมา ด้วยการทำงานร่วมกับ อสต. ทั้ง 656 คนภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการส่งเสริมความรู้การป้องกันโรควัณโรคและเอดส์ รวมถึงความรู้สุขภาพื้นฐานให้กับกลุ่มประชากรข้ามชาติกว่า 64,000 คน มีการนำส่งประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 2,472 คน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 493 ราย (ส่งต่อจากชุมชน และโรงพยาบาล) ซึ่งได้มีการสนับสนุนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพพื้นฐานที่ดี มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการชุมชน และศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อเป็นจุดบริการที่ง่ายต่อการเข้าถึงของกลุ่มประชากรข้ามชาติ ในพื้นที่ดำเนินงานทั่วประเทศ 61 แห่งอีกด้วย”