ยุติเอดส์และวัณโรค ฟื้นฟูความหวังกลุ่มเปราะบาง
“เพราะผมเป็นชาวเมียนมา เป็นประชากรข้ามชาติ และผมเป็นหมอ” ประโยคสั้นๆ ที่บ่งบอกถึงแรงบันดาลใจของ นพ.เนียน วิน เพียว หรือ หมอเนียน ในการทำงานด้านสุขภาพเพื่อพี่น้องประชากรข้ามชาติในประเทศไทยกว่า 18 ปีกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้จัดการโครงการกลุ่มประชากรข้ามชาติ หน่วยงานรับทุนหลัก โครงการกองทุนโลก กำกับดูแลการดำเนินงาน โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund)
จากการเริ่มต้นทำงานเพื่อยุติวัณโรคเมื่อ 18 ปีที่แล้ว จนวันนี้ หมอเนียน ถือได้ว่าบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการยุติเอดส์และวัณโรค หมอเนียนเคยดำรงตำแหน่งหนึ่งใน 15 สมาชิกของ WHO’s Civil Society Task Force ในช่วงปี 2562 – 2566 ปัจจุบัน เขาเป็นสมาชิกหลักของ WHO PPM working group และคณะทำงานด้านวัณโรคในเด็กและวัยรุ่น ภายใต้โครงการวัณโรคระดับโลก
เพราะโรคติดต่อมีความชุกที่มากกว่าในกลุ่มเปราะบาง
“ผมเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว สมัยนั้นชุมชนของประชากรข้ามชาติน่าสงสารกว่านี้ ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการหรือการรักษาใดๆ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เอชไอวีในประชากรข้ามชาติสูงโดยเฉพาะในภาคใต้ และยังไม่มี NGO ที่ทำงานด้านนี้ในพื้นที่ตอนนั้น ผมเริ่มเข้ามาทำงานเพื่อพี่น้องประชากรข้ามชาติกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในประเด็นวัณโรคตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็มาทำงานด้านเอชไอวี เริ่มจากให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การให้คำปรึกษา ซึ่งถือเป็นวิธีรักษาเอชไอวีที่ดีที่สุดตอนนั้น เพราะยังไม่มียาเหมือนทุกวันนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องใช้เวลา ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาตลอดที่ผมอยู่ที่นี่”
หมอเนียนเล่าถึงอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เข้ามาทำงานด้านนี้อีกว่า “ผมเรียนจบด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุขมา ผมสนใจเรื่องโรคติดต่อเพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมด้วย เช่น การศึกษา ความยากจน รัฐสวัสดิการ และมักเกิดกับกลุ่มเปราะบางมากกว่า โรคไม่ติดต่อสามารถหายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลนั้น แต่โรคติดต่อต้องได้รับการรักษาหรือป้องกันอย่างถูกวิธี ต้องอาศัยความร่วมมือของรัฐ กลุ่มเปราะบางมักเข้าไม่ถึงบริการเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึง”
RRTTPR เพื่อยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์อย่างยั่งยืน
“เอดส์และวัณโรคเป็นโรคคู่กัน เอดส์หรือเอชไอวีมักตามมาด้วยวัณโรค โรคติดต่อไม่เลือกว่าเราเป็นคนสัญชาติอะไร ผมมองว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ สามารถช่วยชีวิตคนได้ก็จริง แต่เป็นแค่บางส่วนของการยุติการแพร่ระบาดเท่านั้น ยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน นโยบายและการบังคับใช้ที่เข้มแข็งเป็นรากฐานสำคัญช่วยให้เกิดความยั่งยืนเพื่อยุติเอชไอวีในประเทศไทยได้ หากมองถึงการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนทั่วโลกที่ไปยังประเทศต่างๆ ก็จะเห็นความแตกต่างของนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติ ซึ่งส่งผลต่อระดับความยั่งยืนทั้งสิ้น สำหรับผม คำว่ารู้แต่ไม่ทำคือการไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่ได้เกิดการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน”
ภายใต้การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคและเอดส์ โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก ยึดหลักการสำคัญคือ RRTTPR (Reach-การเข้าถึง Recruit-การนำพา/ส่งต่อ Test-การตรวจวินิจฉัย Treatment-การรักษา Prevention-การป้องกัน และ Retain-การคงอยู่ในระบบ) เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ผู้เสียชีวิตจากเอชไอวีต้องเป็นศูนย์ หรือ Zero Death ภายในปี พ.ศ. 2573 หมอเนียน ได้กล่าวถึงจุดมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนงานสู่ความยั่งยืนว่า
“ในการดำเนินงานโครงการยุติวัณโรคและเอดส์ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยการกินยา ARV (ยาต้านไวรัส) รวมถึงการติดตามการกินยาอย่างต่อเนื่องจนตรวจแล้วพบปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load) ลดลงต่ำกว่าระดับที่ตรวจพบได้ หรือเรียกว่า Undetectable ซึ่งจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อได้ หรือ Untransmittable ส่วนในกลุ่มเสี่ยงสูงจะเน้นการป้องกันโดยยา PrEP (ยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค) และในปีหน้าโครงการฯ จะขยายการทำงานโดยจะเพิ่มความสำคัญของ T=Treatment (การรักษา) โดยการสร้างความร่วมมือกับรัฐและเอกชนเพื่อเป็นเครือข่ายสถานที่ให้การรักษาแก่ผู้ติดเชื้อของโครงการฯ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่ประชากรข้ามชาติได้มากขึ้น และเป็นการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์อย่างยั่งยืน”
U=U โรคเอดส์ ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่
ควบคู่กับการสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางและประชากรข้ามชาติเข้าถึงการบริการและการรักษา การรณรงค์เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี คืออีกเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในการยุติเอดส์และวัณโรคได้
“เป้าหมายของประเทศไทย คือ ภายในปี พ.ศ. 2573 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไม่เกิน 1,000 คนต่อปี แต่ในปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 9,000 คนต่อปี ถือเป็นความท้าทายในการทำงานที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น แนวคิด U=U (Undetectable = Untransmittable) คือ ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ เป็นกลยุทธ์สำคัญในปัจจุบันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวีในประเทศไทย U=U มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจของคนในสังคมเพื่อยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งการไม่เลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination) ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่โครงการฯ มุ่งเน้นให้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติ RRTTPR อย่างมีประสิทธิภาพ”
คือการฟื้นฟูความหวัง ทำให้ผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีสามารถกลับสู่ชีวิตปกติ
หมอเนียนได้เล่าถึงความภูมิใจอีกว่า “การได้ช่วยชีวิตคน คือ ความภูมิใจของผม แต่ก่อนประชากรข้ามชาติเข้าถึงยาต้านไวรัส (ARV) ได้น้อยมาก จากโครงการต่างๆ ที่มูลนิธิฯ ทำและร่วมมือกับเครือข่าย ทำให้ทุกวันนี้ประชากรข้ามชาติเข้าถึงยา ARV ได้มากกว่า 90% หากไม่ได้รับยา ARV จะทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้ภายใน 2-5 ปี ผมยังจำเคสนึงได้ทุกวันนี้ คือ หญิง ชาวเมียนมา ติดเตียงจากการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคมา 1 เดือน ผมเข้าไปให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการฯ ผ่านไป 3 เดือน หญิงคนนี้หายจากอาการติดเตียง ความช่วยเหลือทำให้เธอได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีและวัณโรค กลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิม จนเธอได้มาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ของมูลนิธิฯ อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่เธอจะไปมีครอบครัว”
หากพูดถึง “ความยั่งยืน” นี่คือจุดหมายปลายทางที่คนทำงานด้านการพัฒนาทุกคนรวมถึง หมอเนียน อยากให้เกิดขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าความพยามยามของพวกเรานั้นทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างแท้จริง มูลนิธิศุภนิมิตฯ จะมุ่งมั่นดำเนินพันธกิจด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นพ.เนียน วิน เพียว หรือ หมอเนียน กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย