“เด็กส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียนเพราะความยากจนของครอบครัว ออกไปหางานทำ จะเริ่มมองเห็นความสำคัญของการศึกษาอีกครั้งก็คือเมื่อทำงานไปได้สักระยะ มีโอกาสจะได้เลื่อนตำแหน่งงานแต่ไม่ได้เพราะวุฒิการศึกษาไม่ถึง” คำบอกเล่าจาก รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ที่บ่งถึงความสัมพันธ์ของการศึกษากับโอกาสในการขยับสถานะทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรฐานราก หรือกลุ่มที่มีสถานะยากจน
ผนึกกำลังพัฒนาและผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อโอกาสการศึกษาและการขยับสถานะกลุ่มฐานราก
ภายใต้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาแนวทางเพื่อส่งเสริมการขยับสถานะทางสังคมของประชาชนกลุ่มฐานราก ระหว่าง สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. และ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2565 และขยายผลในปี 2566 ผ่านการวิจัยการศึกษากลไกการขยับสถานะทางสังคมของประชากรกลุ่มฐานราก: บทบาทองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และโครงการต้นแบบนโยบายการส่งเสริมการขยับสถานะทางสังคมของประชาชนกลุ่มฐานราก: กลุ่มเด็กและเยาวชน ดำเนินงานในปี 2566-2567 ต่อเนื่องจนถึงปี 2568 ซึ่งจะได้มีการดำเนินงาน โครงการกลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบาง ในบริบทพื้นที่เปราะบาง คือ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ (พื้นที่ชนบท ชุมชนที่ขาดแคลนทรัพยากรและโอกาสพัฒนาทักษะ) และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก (พื้นที่สูงห่างไกล ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา)
“จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 พบว่าการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2568 เราจะต่อยอดนำต้นแบบนโยบายฯ จากผลการศึกษาปี 2566-2567 มาสู่การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันออกแบบกลไกสนับสนุนเยาวชนเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษาและสามารถขยับสถานะทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีโจทย์หลักซึ่งกำลังเป็นวิกฤตของประเทศคือเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในการทำงาน” คุณอมรพจี อุปมัย Child Protection & Advocacy Advisor มูลนิธิศุภนิมิตฯ เล่าที่มาที่ไปของการดำเนินงาน
จากต้นแบบนโยบาย สู่การพัฒนากลไกและเครือข่าย ที่ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
ข้อมูลจาก กศส. ระบุว่าในปี 2567 ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชน 9.8 แสนคน ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา และในจำนวนนี้เป็นการรายงานของเด็กกลุ่มใหม่ถึง 391,747 คน สำหรับ จ.สุรินทร์ มีเด็กกว่า 12,000 คนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี
นี่คือชุดข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่ คุณเทียนชัย ภัทรชนน Technical Advisor – Education มูลนิธิศุภนิมิตฯ นำมาขยายภาพให้เครือข่ายจาก 20 หน่วยงานใน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้นำเด็กและเยาวชนด้วย ได้เห็นใน การประชุมเปิดตัวและหารือ โครงการกลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบาง ณ ห้องประชุมบัวขาว โรงเรียนขนาดมอญพิทยาคม จ.สุรินทร์ ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อต้นแบบนโยบาย ตั้งแต่ข้อกังวล/ข้อท้าทาย แนวทาง/วิธีการดำเนินงาน การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงานที่จะขับเคลื่อนต้นแบบนโยบายสู่การปฏิบัติจริง
“ที่ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เรามี 2 ต้นแบบนโยบายจากผลการศึกษาวิจัยที่จะนำมาสู่การบูรณาการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน คือ โครงการสุขใจวินัยเชิงบวก มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเติบโตให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน และ โครงการการใช้ฐานข้อมูลและกลไกท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เป้าหมายเพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงและหลุดจากระบบการศึกษาได้ โดยมีกลไกช่วยเหลือที่เป็นเงื่อนไขให้กลับมาเรียน” คุณปลื้มปีติ เหลืองสุวิมล Policy Model Project Coordinator มูลนิธิศุภนิมิตฯชี้แจงรายละเอียดต้นแบบนโยบาย
เสียงจากเครือข่าย อ.สังขะ จ.สุรินทร์ และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาต้นแบบนโยบาย
กำนันบุญสวย หลักแหลม กำนัน ต.ตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ให้ความคิดเห็นถึงแนวทางการป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา “ในภาพรวมที่จังหวัดสุรินทร์ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเกิดมาจากสถาบันครอบครัว พ่อแม่จะไปทำงานในเมือง ทิ้งภาระการเลี้ยงดูเด็กไว้กับปู่ย่าตายาย เลี้ยงดูด้วยการเอาใจเด็กมาก เด็กจะไปโรงเรียนหรือไม่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ส่วนพ่อแม่ที่ทำงานในเมืองก็จะเน้นส่งเสียเงินมาให้ เด็กได้เงินมาก็เอาไปซื้อสิ่งของ ซื้อโทรศัพท์ เที่ยวเล่นกับเพื่อน ประกอบกับสื่อต่างๆ ที่ยั่วยุเด็ก พอรวมกันเข้าเด็กก็จะค่อยๆ ออกจากโรงเรียนมากขึ้นไปเรื่อยๆ”
สอดคล้องกับ นายศาสวัต อายุ 17 ปี ประธานนักเรียนโรงเรียนกระเทียมวิทยา จ.สุรินทร์ อดีตเด็กในความอุปการะ มูลนิธิศุภนิมิตฯ เล่าสิ่งที่เขาเห็นในโรงเรียนที่นำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษาของเพื่อนๆ
“มันมีรูปแบบที่ทำให้เราสามารถจับได้ว่าเด็กคนไหนเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา ตั้งแต่ติดเกม ติดเพื่อน ไม่สนใจเรียน ขาดเรียน ผลการเรียนมีปัญหา บางคนก็หันไปหาสารเสพติด บางคนเชื่อตามที่เห็นใน Social Media ที่บอกว่าจบแค่ ม.3 หรือ ม.6 แต่ก็มีอาชีพดีๆ มีรายได้ มีชีวิตหรูหราได้ จนลืมคิดไปว่าตัวเองสามารถขยันได้เท่าเขาหรือไม่ อีกเรื่องที่เป็นตัวเร่งก็คือผู้ปกครอง เชื่อลูก ไม่ฟังที่ครูคอยบอกเกี่ยวกับการขาดเรียนของลูกๆ ผมสนใจต้นแบบนโยบายโครงการการใช้ฐานข้อมูลและกลไกท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ผมอยากให้มีระบบทั้งการติดตาม การบันทึกพัฒนาการ การประเมินผล ให้มีข้อมูลที่แน่นอน เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถ้าเด็กมีปัญหา”
คุณมีนา ดวงราศี ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน เครือข่ายจากภาคประชาสังคมได้สะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเสี่ยงของเด็กหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงต้นแบบนโยบายและโครงการกลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบาง
“มีปัจจัยเยอะมากที่ดึงเด็กออกไปจากโรงเรียน และส่วนหนึ่งที่มีผลค่อนข้างมากคือ บรรยากาศในการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ทำให้เด็กไม่ค่อยมีความสุข ทั้งการแข่งขัน กฎเกณฑ์ การลงโทษ รวมถึงการบูลลี่กันเองในกลุ่มเด็กด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาคือเด็กขาดแรงบันดาลใจในการเรียน ขาดเป้าหมายชีวิตว่าจะเรียนไปทำไม ครู ผู้ปกครอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยนี้ด้วย ต้นแบบนโยบายโครงการสุขใจวินัยเชิงบวก หากจะได้ผลจะต้องขับเคลื่อนด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดทั้งที่ตัวเด็ก ครู และผู้ปกครอง รวมถึงยังมีความท้าทายใหม่ๆ ทั้งความเครียด สุขภาพจิต และปัญหาสิ่งเสพติดต่างๆ การทำงานจริงก็จะต้องจับมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล สาธารณสุขด้วย และจะต้องทำให้ทั้งหมดจับมือร่วมกันเพื่อเป้าหมายการพัฒนาเด็ก”
ก้าวแรกของการพัฒนากลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบาง ที่ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เสียงและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ จะถูกนำไปปรับปรุงต้นแบบนโยบายให้สามารถตอบสนองกับประเด็นปัญหาและศักยภาพของพื้นที่ และเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้และพัฒนาแนวทางการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และทั้งหมดจะถูกนำไปต่อยอดออกแบบเป็นกลไกสนับสนุนเยาวชนเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษาและสามารถขยับสถานะทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับบริบทพื้นที่ต่างๆ ต่อไปด้วย