มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยการสนับสนุนจาก รัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้ “โครงการการตอบสนองความต้องการของผู้ย้ายถิ่นกลุ่มเปราะบางภายใต้กรอบมนุษยธรรม การพัฒนา และสันติภาพ (HDPN) ในประเทศไทย” จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอผลการสำรวจข้อมูล (คืนข้อมูล) เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันของผู้ย้ายถิ่นกลุ่มเปราะบาง และร่วมจัดทำแผนที่ผู้ให้บริการแก่แรงงานข้ามชาติ
โดยในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอผลการสำรวจข้อมูลในหัวข้อ การประเมินความต้องการแบบพหุสาขา และความสามารถในการเข้าถึงบริการและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งได้มีการสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี และนนทบุรี เพื่อนำมาวิเคราะห์ประเด็นความต้องการ 12 ด้านของประชากรผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างละเอียด ประกอบด้วย การโยกย้ายถิ่นฐาน เอกสารประจำตัว การศึกษา การทำงาน ความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ การคุ้มครอง บริการด้านสุขภาพ และที่อยู่อาศัย เป็นต้น
Khun Chatra BAUDE ผู้แทนจาก IOM เปิดเผยถึงผลการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ย้ายถิ่นที่ทำแบบสอบถามครั้งนี้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดย 3 อันดับแรกคือ ค้าขาย การบริการ และการผลิตอาหาร และพบว่ารายได้หลักถึงร้อยละ 90 มาจากการทำงาน โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 13 มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
ด้าน คุณเรืองยศ ชยาภิวัฒน์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เล่าถึงแนวทางปฏิบัติหากแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับค่าแรงตามที่กำหนด “เบื้องต้นเราใช้การพูดคุยกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้าง และะลูกจ้าง ให้เข้าใจตรงกันโดยใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ แต่ถ้าหากลูกจ้างต้องการร้องเรียน เราแนะนำแล้ว หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะต้องเข้าไปสู่กระบวนการด้านกฎหมายสั่งให้จ่ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองและเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมายาวนานคือ การเข้าถึงบริการสุขภาพ แม้จากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 69 มีการเข้าถึงบริการสุขภาพแบบเป็นทางการ สามารถไปโรงพยาบาล หน่วยบริการของรัฐ แต่ปัญหาที่พบอันดับต้นๆ คือภาษา ค่าใช้จ่าย และความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ล้วนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ
ทางด้าน ประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ จากผลสำรวจพบว่า มี 3 เหตุผลที่แรงงานข้ามชาติมองว่าประกันสุขภาพเป็นเรื่องยากคือ ไม่ทราบว่ามีบริการใดบ้างที่คุ้มครอง มีสถานพยาบาลใดบ้างที่สามารถใช้ประกันได้ ตลอดจนถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้แรงงานข้ามชาติร้อยละ 49 ไม่มีประกันสุขภาพ
สอดคล้องกับ คุณพฤกษาชล เหล่าสกุลศิริ นักสังคมสงเคราะห์ ด้านการแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ได้เล่าให้ฟังว่า “ที่เจอบ่อยที่สุดคือแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสาร เวลาเจ็บป่วยมารักษาก็ไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ ไม่มีประกันสุขภาพ พอมารักษาเจอปัญหา 2 แบบ คือจ่ายได้บางส่วน หรือไม่ได้เลย เราต้องสงเคราะห์ค่ารักษา เราก็ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ หรือแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงอยากผลักดันนโยบายให้แรงงานข้ามชาติได้มีประกันสุขภาพก่อนเข้ามาทำงานในไทย ไม่ว่าจะเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง สนามบิน ซึ่งมันจะช่วยได้มากเพราะเราไม่รู้ว่าจะเจ็บป่วยตอนไหน”
นอกจากนี้จากการสำรวจเกี่ยวกับ ความเสี่ยงในการดำรงชีวิต พบว่าสำหรับผู้ใหญ่เป็นความเสี่ยงจาการใช้สารเสพติด มากถึงร้อยละ 65 แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลเมื่อเจาะลึกถึงกลุ่มเด็กในพื้นที่ พบว่าความเสี่ยงที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายคือความรุนแรงภายในบ้าน
เมื่อเกิด ภัยความเสี่ยงต่อทั้งร่างกายจิตใจและสภาพความเป็นอยู่ กลุ่มผู้ย้ายถิ่น เหล่านี้สามารถพึ่งพาใครได้บ้าง? จากผลสำรวจพบว่าร้อยละ 43 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ทราบถึงการบริการต่างๆ ที่รองรับสำหรับผู้ย้ายถิ่นไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสุขภาพจิต ที่พักพิง กฎหมาย และการบริการล่ามแปลภาษา
จากผลสำรวจดังกล่าวจึงเป็นโจทย์หลักในการค้นหาคำตอบและเลือกแนวทางที่เหมาะสมเกิดเป็นกระบวนการระดมความคิดทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการอุดช่องโหว่ของปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางการแก้ไขความท้าทายของผู้ย้ายถิ่น
ในช่วงบ่ายยิ่งเข้มข้น ยิ่งท้าทายกับประเด็นการจัดทำแผนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและช่องทางการบริการในแต่ละพื้นที่ โดยมี คุณปภพ เสียมหาญ ที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นผู้ดำเนินการชวนผู้แทนหน่วยงานทั้งด้านสุขภาพ และด้านสิทธิแรงงาน ร่วมระดมความคิด วิเคราะห์ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติภายใต้หน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ตลอดจนถึงการร่วมกันจัดทำแผนที่และช่องทางการให้บริการในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน โดยกิจกรรมนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนที่ที่รวบรวมจุดให้บริการแก่แรงงานข้ามชาติในอนาคต การจัดทำแผนที่ในการให้บริการเพื่อส่งมอบให้กับแรงงานข้ามชาติ เป็นเหมือนคู่มือที่ช่วยเหลือและเคียงข้างประชากรข้ามชาติ เป็นเข็มทิศชี้นำแนวทางอีกทั้งแก้ไขปัญหา อุดรูรั่วที่เกิดขึ้นในอดีต
การประชุมในครั้งนี้เป็นความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่ต้องการแก้ไขปัญหา อุดรอยรั่วที่เคยเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ ตลอดจนถึงการเข้าถึงบริการ และสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติที่พึงมี เพื่อลดความเหลี่ยมล้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่พึงกระทำในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง