ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวาตภัย ดินถล่ม พายุลูกเห็บ หรือแม้กระทั่งไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชน
นายศุภฤกษ์ ณัฐรมย์ ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตรประจำองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย และหนึ่งในคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติในชุมชน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมความรู้ผ่านการอบรมให้มีความพร้อมและมีแผนในการรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในชุมชน และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติในชุมชน เพื่อความยั่งยืน


“ทางศุภนิมิตฯ ได้เข้ามาให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจและสามารถเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภัยที่พบบ่อยในพื้นที่” นายศุภฤกษ์ กล่าว
การให้ความรู้ดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยให้ชุมชนสามารถป้องกันความเสียหายได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในด้านการเฝ้าระวังและการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจริง สำหรับตำบลอมก๋อย พายุลูกเห็บนับเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างมาก นอกจากสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนแล้ว ยังส่งต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น พริก มะเขือ ฟักทอง และพืชผักต่าง ๆ ปัญหาภัยแล้ง และไฟป่าในฤดูร้อน จึงเป็นภัยธรรมชาติที่ชุมชนต้องเฝ้าระวังในทุกปี


มูลนิธิศุภนิมิตฯ ไม่เพียงแต่มอบความรู้ให้กับชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และเพื่อให้การจัดการภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีระบบ ชุมชนอมก๋อยจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการภัยพิบัติขึ้น โดยมีการประสานงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เฝ้าระวังภัย แจ้งเตือนล่วงหน้า และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือจากคนในพื้นที่เป็นอย่างดี


นายศุภฤกษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ดำเนินการนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชุมชน พวกเราอยากให้ศุภนิมิตฯ ดำเนินงานในลักษณะนี้ต่อไป เพื่อให้ชุมชนสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
เสียงสะท้อนจากอมก๋อยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการภัยพิบัติที่อาศัยชุมชนเป็นฐาน และเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อสร้างความพร้อมและลดผลกระทบจากภัยพิบัติในระยะยาว