เพราะ ประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีสิทธิได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ โดยการมีหลักประกันสุขภาพที่เข้าถึงและได้รับบริการอย่างเป็นธรรมโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตามมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติเมื่อปี พ.ศ.2565 ทั้งนี้ สิทธิด้านสุขภาพ ได้การรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ตาม ข้อ 25 ของปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2491 (1948)
แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการส่งเสริมสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ยังคงมีข้อท้าทายในการดำเนินงานหลายประเด็น โดยเฉพาะในบริบทพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเฉพาะทั้งการบริหารจัดการ รูปแบบและความหลากหลายของประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ล้วนส่งผลถึงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุม
ภายใต้การดำเนินงาน โครงการการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ของ มูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติผ่านการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดความร่วมมือในระดับพื้นที่ให้ประชากรข้ามชาติสามารถเข้าถึงได้เพิ่มขึ้นและเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน ได้จัด การประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนายุทธศาสตร์และกรอบการดำเนินงานสุขภาพประชากรข้ามชาติในพื้นที่ กทม. เพื่อพัฒนาความร่วมมือและแผนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) เพื่อส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาโรคสำหรับประชากรข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ มีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญกว่า 35 คน จากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สสส. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) และเครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเกิดเป็น แผนการดำเนินงานโครงการนำร่องเพื่อการพัฒนาความร่วมมือและแผนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ทั้งเพื่อการป้องกัน และการรักษาโรคสำหรับประชากรข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ใน 3 บริบทพื้นที่ ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตบางซื่อ และเขตสัมพันธวงศ์ ในการปรับปรุงการให้บริการด้านสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติให้สอดคล้องและสามารถเข้าถึงได้ตามบริบทของประชากรข้ามชาติในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในลำดับต่อไปจะได้นำไปขยายผลการดำเนินงานในวงกว้างต่อไป
ทั้งนี้ พื้นที่โครงการนำร่องฯ ทั้งเขตบางขุนเทียน เขตบางซื่อ และเขตสัมพันธวงศ์ มีบริบทที่แตกต่างกันในหลายมิติ เช่น การกระจายตัวของประชากรข้ามชาติ ลักษณะการจ้างงาน หน่วยงานให้บริการด้านสุขภาพ ความหลากหลายทางภาษา เป็นต้น ซึ่งล้วนมีผลต่อระดับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อท้าทายที่ยังคงมีอยู่ในประเทศไทยและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในบริบทเฉพาะเพื่อก้าวข้ามข้อท้าทายเหล่านี้