ตรวจชีพจรวัณโรคและประชากรข้ามชาติ: หยุดตีตรา ปกป้องสิทธิ ร่วมยุติวัณโรค
ประชากรข้ามชาติจำนวนมากในประเทศไทยยังคงเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการเร่งยุติเอชไอวีและวัณโรค ทำให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของกลุ่มประชากรนี้ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร อุปสรรคเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นจากการต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเห็นได้จากการคงอยู่ของนโยบายเลือกปฏิบัติและการลงโทษ หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการขจัดอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนสามารถเร่งความก้าวหน้าไปสู่การยุติโรคเอดส์และวัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงให้เห็นว่าหากไม่ขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างหรือรื้อกำแพงที่ขัดขวางบริการสุขภาพ และจัดการกับความไม่เสมอภาคที่ทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง จะส่งผลให้จำนวนผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีหรือได้รับผลกระทบจากเอดส์และวัณโรคย่อมเพิ่มขึ้น

Stella Maris บทบาทการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจและการทำงานกับชุมชนเป็นฐาน
Stella Maris (STM) หรือศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (บ้านสุขสันต์) สงขลา องค์กรภาคประชาสังคมที่มีรากฐานของคริสเตียนให้การตอบรับอย่างกระตือรือร้นต่อโครงการด้านสิทธิ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับทุนหลักจากกองทุนโลก ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR (Stop TB and AIDS through RRTTPR 2024-2026: STAR4) Stella Maris ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมุ่งเน้นการทำงานใน 2 ด้านหลัก (1) การจัดการกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติในวัณโรคและเอชไอวีต่อประชากรข้ามชาติและกลุ่มประชากรหลักผ่านบริการสนับสนุนทางกฎหมายและจิตสังคม การจัดตั้งศูนย์พักพิงรองรับประชากรข้ามชาติที่ไร้ที่พึ่งระหว่างการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงการรับรู้และการได้รับการสนับสนุนจากตำรวจและอัยการจังหวัดเพื่อร่วมทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิแรงงานและกฎหมายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชากรข้ามชาติ เป็นการทำงานทั้งในส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมายที่เป็นระดับอัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ (Business Human Right) การแสวงหาความร่วมมือกับ 7 สถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่มีผู้ป่วยวัณโรคและเอชไอวี โดยร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางกฎหมายแก่ผู้ป่วยวัณโรคและเอชไอวีที่ถูกตีตราและเลิกจ้าง


ผลลัพธ์ของการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของโครงการสิทธิมนุษยชนที่กำลังดำเนินการระหว่าง ปี พ.ศ. 2553-2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัณโรคที่เกี่ยวพันกับเพศภาวะ
Stella Maris พัฒนาองค์กรเป็น “จุดประสาน” ที่จังหวัดสงขลาซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ส่งผลต่อการเดินทางเคลื่อนย้ายและหลั่งไหลของประชากรข้ามชาติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันทำงานครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ 24 ตำบล โดยมีแกนนำแรงงาน 36 คน การดำเนินงานปี พ.ศ. 2567 แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย กลุ่มเป้าหมายหลักเข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือกลุ่มพนักงานบริการหญิงที่เป็นประชากรข้ามชาติ 160 คน ในปี พ.ศ. 2567 จำนวนประชากรข้ามชาติที่เข้าถึงโดยโครงการกำหนดให้มีการให้ความรู้เอชไอวีและวัณโรคเพื่อประเมินความเสี่ยง 175 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวลาว 109 คน และชาวเมียนมา 66 คน มีแนวทางพัฒนาอาสาสมัครที่มาจากกลุ่มเป้าหมายในชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้รอดชีวิตจากวัณโรค (TB survivor) ประชากรข้ามชาติที่เป็นบุคคลข้ามเพศที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้หญิงที่ใช้สารเสพติด Stella Maris กำลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แม้จะมีอุปสรรคนับไม่ถ้วนและพวกเขาเสี่ยงต่อการถูกโจมตีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในแต่ละวัน


มูลนิธิศุภนิมิตฯ Stella Maris และภาคีเครือข่าย มุ่งมั่นขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อประชากรข้ามชาติในการเข้าถึงการป้องกันและรักษาเอชไอวีและวัณโรค ผ่านการพัฒนาศักยภาพ การระดมทุน และการมีส่วนร่วมขององค์กรที่นำโดยกลุ่มประชากรหลัก ความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการยุติวัณโรคและเอชไอวีภายในปี พ.ศ. 2573