น้ำมาปลาเยอะ ราคาตกต่ำ น้ำลดปลาน้อย อาหารการกินก็ลำบาก วงจรปัญหาที่ชาวบ้านในชุมชนหกหนำ ต.ทางพูน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช ต้องเผชิญเกือบทุกปี ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีแม่น้ำไหลผ่าน ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกผัก ประมงน้ำจืด และรับจ้างทั่วไป หากแต่ที่ผ่านมาราคาผลผลิตทางการเกษตร มักผันแปรตามฤดูกาลและจำนวนผลผลิตที่ออกสู่ตลาดชาวบ้านเองไม่สามารถกำหนดราคาได้
“ผมช่วยพ่อหาปลาในคลองบ่อยครับ หลายครั้งที่เราจับปลาได้เยอะเลย แต่ปัญหาก็คือหากเราขายปลาสดจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมล่ะ 60-70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ค่อยดีเลยครับ ผมอยากทำให้ปลาที่ผมหามาขายได้ในราคาที่สูงขึ้น หรือไม่ก็แปรรูปให้เก็บไว้ได้นานครับ” นายนราธิป หรือ แน่ว อายุ 13 ปี เด็กในความอุปการะของมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าว
ไม่ใช่แค่ แน่ว และพ่อเท่านั้นที่ต้องพบกับปัญหาราคาปลาถูก แต่เด็กยากไร้และครอบครัวในโครงการอุปการะเด็ก รวมถึงชาวบ้านในชุมชนบ้านหกหนำต่างก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
เมื่อได้ทราบความตั้งใจดีของแน่ว และเพื่อนๆ รวมถึงอีกหลายครอบครัวในการดำเนินงาน มูลนิธิศุภนิมิตฯ โครงการพัฒนาฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ดำเนินงานสระเพลง เทศบาลตำบลทางพูน อาสาสมัคร และผู้นำชุมชน ไม่รอช้ารีบยื่นมือช่วยสานต่อความตั้งใจดี สร้างอาชีพ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ดำเนินงาน โครงการฝึกทักษะอาชีพการแปรรูปอาหาร (ปลาใส่อวน) ชวนกลุ่มเยาวชน และผู้ปกครอง เข้าครัวฝึกทักษะการถนอมและแปรรูปอาหาร ปลาใส่อวน โดยมี พี่แหว่ง หรือ นางอารีย์ บุญแก้ว อาสาสมัครมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้เข้าอบรมทั้ง 62 คน ซึ่งเป็นเยาวชน 40 คน และผู้ปกครอง 22 คน
ปลาใส่อวน หรือ ปลาส้มปักษ์ใต้ เป็นการแปรรูปอาหารจากปลา ใช้เครื่องปรุงหลักๆ คือ ปลา เกลือ น้ำตาล ข้าวสุก ข้าวเหนียว หรือข้าวคั่ว ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชจะใช้ข้าวคั่วหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อวน” เป็นส่วนผสมในการหมักปลาให้เกิดรสชาติเปรี้ยว จึงเกิดเป็นชื่อเรียกอาหารชนิดนี้กันแบบเข้าใจง่ายๆ ตามภาษาท้องถิ่นคนนครฯ ว่า “ปลาใส่อวน” หมายถึงปลาที่ใส่ข้าวคั่ว(อวน) จนมีรสชาติเปรี้ยวนั่นเอง
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฝึกอบรมทักษะอาชีพการแปรรูปอาหาร คือหนึ่งกิจกรรมจากโครงการอุปการะเด็ก เพื่อการพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมด้านอาชีพ รวมถึงยังเป็นการแก้ไขปัญหาอันเป็นรากของความยากจนให้กับครอบครัวของเด็กยากไร้ ผ่านการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายชุมชน ซึ่งนอกจากประโยชน์ด้านอาชีพแล้ว ทุกกิจกรรมการอบรมที่จัดขึ้น ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย
“ได้เห็นเด็กๆ มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือครอบครัว และอยากมีความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง พี่ก็รู้สึกดีใจมาก จากปลาสดที่ขายได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 60-70 บาท พอแปรรูปเป็นปลาใส่อวนสามารถขายได้กิโลกรัมละ 250 บาทเลยนะคะ พี่ยินดีที่จะถ่ายทอดทักษะความรู้และเป็นที่ปรึกษาให้ ขอขอบคุณผู้อุปการะของเด็กๆ ที่สนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ มากค่ะ ทำให้ในชุมชนมีกิจกรรมดีๆ ให้กับเด็กๆ ครอบครัว และชาวบ้านมาโดยตลอด” พี่แหว่ง อาสาสมัครและวิทยากร กล่าวทิ้งท้าย
ตอนนี้เด็กยากไร้ เยาวชน และครอบครัว รวมถึงชาวบ้านที่ได้รับความรู้การทำปลาใส่อวน กำลังเร่งพัฒนาทักษะให้เกิดความชำนาญ เพื่อให้ปลาใส่อวนมีรสชาติอร่อยคงที่ในทุกรอบการผลิต ควบคู่กันไป เทศบาลตำบลทางพูนก็กำลังเร่งหาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาใส่อวนของชุมชน
จากการแปรรูปและถนอมอาหารเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้แก่เด็กยากไร้ เกิดการเรียนรู้ที่กำลังขยายผลนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน