ยุติเอดส์ได้ หากสิทธิของทุกคนได้รับการคุ้มครอง ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความก้าวหน้าอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายที่จะยุติเอดส์ในฐานะภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี พ.ศ. 2573 ความก้าวหน้านั้นถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยยังพบข้อท้าทายในการขับเคลื่อนการปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ รูปแบบการปฏิบัติที่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติและการตีตราต่อสตรี เด็กผู้หญิง กลุ่มประชากรหลัก ตลอดจนกลุ่มประชากรเฉพาะไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ยังคงขัดขวางการเข้าถึงการป้องกัน การตรวจ การรักษา และการดูแลเอชไอวีอีกด้วย
วันที่ 1 มีนาคมของทุกปีถือเป็นวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล (Zero Discrimination Day) ‘ทุกคนสามารถยุติการเลือกปฏิบัติได้’ เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล ประจำปี พ.ศ. 2568 มูลนิธิฯ ชวนมาสำรวจผลการศึกษาสำคัญจากดัชนีการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี พ.ศ. 2565-2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
- ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทั้งความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ พฤติกรรมเสี่ยง และลักษณะเฉพาะต่าง ๆ
- ส่งเสริมการนำผลการศึกษาและข้อค้นพบไปประยุกต์ใช้เพื่อยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
- สะท้อนรูปแบบและผลกระทบของการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี
รายงานสรุปผลการศึกษาฉบับนี้ รวบรวมประเด็นผลการศึกษาสำคัญ 20 ประเด็น โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะองค์กรผู้รับทุนหลักจากกองทุนโลก ดำเนิน ‘โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR ประจำปี พ.ศ. 2567-2569’ มีเป้าหมายหลักเพื่อจัดให้มีบริการแบบบูรณาการโดยชุมชนเพื่อให้บริการแก่กลุ่มประชากรข้ามชาติ สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้ระบบของชุมชน ตลอดจนขจัดอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศภาวะในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รายงานฉบับนี้อ้างอิงข้อมูลจากดัชนีการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/AIDS ในกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เวอร์ชั่น 2.0 ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2566 ดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 – เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ด้วยระเบียบวิธีรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณใน 25 จังหวัดทั่วประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมให้ข้อมูลทั้งสิ้น 2,508 ราย ประกอบด้วย กลุ่มประชากรหลักและกลุ่มประชากรเฉพาะอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 6 กลุ่ม ได้แก่ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการ ประชากรข้ามชาติ และเยาวชน รวมทั้งเก็บข้อมูลคู่ขนานในกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย มูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรวบรวมผลการศึกษาฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคีเครือข่ายและผู้ที่สนใจ เพื่อร่วมกันขจัดปัญหาและอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศสภาวะในการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวีและวัณโรคได้อย่างยั่งยืน
ปีที่เผยแพร่ : 2025