WVFT-logo_dark_rgb

รานงานวิจัยการดำเนินงานโครงการ ‘มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม’ ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ

โดย :

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

นับตั้งแต่ปี 2011 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินงาน โครงการ มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่มที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งต่อมาได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยมีการพัฒนากิจกรรมร่วมกับ โครงการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการสำหรับเด็กอายุ 0-5 ปี โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based for children under 5 malnourished management) มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายให้ความสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นที่กลุ่มเด็กปฐมวัย นอกจากสนับสนุนให้เด็กได้รับประทานอาหารมื้อเช้าเพื่อส่งเสริมสุขภาพ อนามัย และโภชนาการที่เหมาะสมแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาและการดูแลอย่างรอบด้าน และการดำเนินงานเพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของอาหาร โภชนาการ และพัฒนาการของเด็ก โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้เข้าไปมีบทบาทและทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

รายงานวิจัยการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการ มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือของคณะวิจัยจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้กระบวนการและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึก ทำการศึกษาในพื้นที่ 4 จังหวัด ที่มีการดำเนินงานโครงการ ‘มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม’ ได้แก่ เชียงใหม่ สุรินทร์ ราชบุรี และนครศรีธรรมราช

จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ นอกจากโครงการ ‘มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม’ จะมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงกับเด็กที่ได้รับการสนับสนุนอาหารมื้อเช้า ทั้งด้านสุขภาพ อนามัย การเจริญเติบโต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม การรู้คิดและสติปัญญาแล้ว ยังค้นพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ระดับครอบครัว ที่ให้ความสำคัญของอาหารมื้อเช้าและการดูแลด้านโภชนาการของลูกๆ อย่างเหมาะสมที่มากขึ้น ระดับชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน ทั้งการแบ่งปันแรงงานทำอาหารสำหรับเด็กๆ การแบ่งปันทรัพยากรและวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร การสมทบค่าอาหารเช้าสำหรับเด็กๆ รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมจาก หน่วยงานท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงาน โครงการมื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่มเกิดสัมฤทธิผลในการสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาและการดูแลอย่างรอบด้าน คณะวิจัยได้ให้ความสำคัญกับประเด็กที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการบริหารจัดการ ทั้งโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่สภาพเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุน กำลังคน และบทบาทของเครือข่ายในบางพื้นที่ไม่ครบองค์ประกอบ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปโดยยาก หรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ภายหลังจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ถอนตัวออกจากพื้นที่  รวมถึง การสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้โครงการฯ เกิดความยั่งยืนต่อไป

ในตอนท้ายของงานวิจัยฉบับนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะทั้งในระดับการปฏิบัติการ ระดับนโยบายและการผลักดันนโยบาย รวมถึงข้อเสนอแนะสู่หน่วยงานภาครัฐ และโอกาสในการสนับสนุนอาหารเช้าสำหรับเด็ก โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่

  • การปรับบทบาทของมูลนิธิศุภนิมิตฯ จากผู้สนับสนุนเป็นผู้ร่วมดำเนินการผ่านการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายชุมชน และควรเพิ่มบทบาทผู้ถ่ายทอดความรู้ สร้างความตระหนัก มีแผนการจัดเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มีการติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาและการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายชุมชนต่อไป
  • การผลักดันในระดับนโยบาย ที่ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเชิงกระบวนการ ใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาชีวิตระดับอำเภอ พัฒนาชุมชน และหน่วยงานพัฒนาสังคมฯ ระดับจังหวัด เพื่อสร้างพันธมิตร และทำให้เกิดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก และเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาและการดูแลอย่างรอบด้านอย่างยั่งยืน
  • การสื่อสารสาธารณะ ทั้งเพื่อสร้างความตระหนักและเพื่อให้เกิดพลังในการสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับประเทศ และในองค์กรระดับนานาชาติ รวมถึงเกิดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ในการร่วมส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชน
ปีที่เผยแพร่ : มีนาคม 2024

งานวิจัยอื่นๆ

สื่อความรู้ คู่มือเพื่อการพัฒนาอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save