คนไทยยังออมเงินไม่พอ จากรายงานของภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงดัชนีชี้วัดความพร้อมเพื่อการเกษียณ หรือ NRRI ชี้ว่า ยิ่งเป็นที่น่ากังวล เมื่อพบว่าเด็ก อายุ 18 ปีขึ้นไปมีหนี้เร็ว และนานขึ้น สาเหตุจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ทำให้การออมเพื่อเกษียณถูกบั่นทอน จึงเกิดเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนดมาตรการในการส่งเสริมการออม เข้าไปในหลักสูตรการเงินส่วนบุคคลในโรงเรียน และสถาบันการศึกษา เพื่อกระตุ้นการออม พร้อมเสริมทักษะด้านดิจิทัลไปพร้อมกัน
เรื่องของ ‘การเงิน’ เมื่อรู้ตัวเร็ว ยิ่งเอาตัวรอดได้ไว การปลูกฝังจิตสำนึกในการเก็บออมตั้งแต่ยังเด็กจึงดูเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างเกราะป้องกันให้เด็กๆ ในอนาคต คุณวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยถึง โครงการออมวันละบาท ของทางโรงเรียนว่า “โครงการนี้ช่วยให้เด็กๆ รู้จักเก็บออมวันละนิด โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างคุณธรรมในจิตใจให้กับเด็กๆ ในการที่จะรู้จักช่วยเหลือคนอื่นและรู้คุณค่าของเงิน”
“คุณครูให้พวกเราประดิษฐ์กระปุกออมสินขึ้นมาเองเพื่อสร้างความสนุกสนานครับ เพื่อนๆ ในห้องมี 50 คน เข้าร่วมโครงการออมวันละบาทหมด โรงเรียนไม่ได้บังคับครับ อย่างปีล่าสุดผมเก็บเงินในกระปุกนับรวมแล้ว 120 กว่าๆ ครับ ผมรู้สึกภูมิใจมากเลยครับที่ผมสามารถเก็บเงินแค่วันละบาท เพิ่มให้มันเป็นร้อยบาทและสามารถนำไปให้คนอื่นที่ด้อยโอกาสมากกว่าผม” น้องเซียนเซียน ชนินพัทธ์ อายุ 11 ปี นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการแถมพ่วงตำแหน่งรองประธานสภานักเรียนประถมศึกษา เล่าถึงการออมของตัวเอง
การขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ไปถึงเป้าหมายเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดี การสร้างวินัย และส่งเสริมกระบวนการคิดในการเก็บออมต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย โดยครั้งนี้มี พ่อน็อต ภัคจักร ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เผยว่า “โครงการนี้ ลูกชายเขารู้สึกเหมือนได้รับภารกิจมา เขาจะตั้งธงไว้แล้วว่าหนึ่งเดือนมี 30 วัน ก็ต้อง 30 บาท แต่บางวันมีกิจกรรมพิเศษทำให้มีเงินไม่เหลือกลับมาออม เขาถามว่า ‘วันนี้ผมขอไม่ออมได้ไหม’ เลยบอกเขาว่า ‘ไม่ต้องซีเรียสลูก’ วันแรกที่เราทำยังเคยคุยกันอยู่ว่า ‘ถ้าหนูใส่ 2 บาท 5 บาท 10 บาทได้ไหม ผิดไหม’ ไม่ผิด สุดท้ายธงเราก็ 30 บาท จะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่สร้างระเบียบวินัย เขารู้แล้วว่าเป้าหมายคือ 30 บาท วันนี้อาจจะออมไม่ได้ แต่พรุ่งนี้อาจจะใส่ 2 บาทก็ได้ เขามีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ อันนี้ผมว่าข้อดีโดยตรงเลยที่ฝึกให้เขาคิดเป็น”
อีกเสียงสะท้อนจาก แม่แอ๋ม อรวรรณ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียน เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกชายที่ได้เขาร่วมโครงการว่า “แต่ก่อนเขาจะมีกระปุกออมสินเป็นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ก็จะแคะบ่อยตามประสาเด็ก พอเขาเข้าร่วมโครงการนี้ เห็นชัดว่าเขาจะเริ่มมีวินัย มีการวางแผนการใช้เงิน เพื่อให้เหลือออมทั้งของน้อง และของเขา เขาชอบพูดว่าเขาเก็บให้น้อง ทุกครั้งที่เขาพูด เขาดูมีความสุข”
“การให้จากหมู่คนเยอะๆ จำนวนหลายๆ คน ให้กันคนละเล็กคนละน้อย มันจะเกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ ที่ชัดเจน การให้นั้นมีความสุขยิ่งกว่าการรับ ฉะนั้นสิ่งที่เรามองเห็นชัดเจนกับเด็กของเราคือ เขามีความสุขเมื่อเขาได้ให้ และสิ่งที่มีความสุขมากกว่านั้นคือเขาได้เห็นคนที่ได้รับมีความสุขด้วย” ผอ.วราภรณ์ กล่าวเสริม
เมื่อสิ้นสุดระยะการดำเนินโครงการ คณะครูจะให้เด็กๆ นำเงินที่เก็บออมมาตลอดทั้งปีนั้นมาส่งที่ครูเพื่อรวบรวมนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ทางโรงเรียนได้ร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยร่วมดำเนินโครงการนี้มาเป็นปีที่ 14 ภายใต้การดำเนินงานของ โครงการอุปการะเด็ก เพื่อช่วยเหลือเด็ก ครอบครัว และชุมชนยากไร้ ให้มีชีวิตที่ครบบริบูรณ์ ในปีการศึกษา 2023 ได้รับเงินบริจาคจากโครงการออมวันละบาท จำนวน 226,800 บาท เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงานของโครงการอุปการะเด็ก เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตให้เด็กยากไร้ได้ถึง 27 คน
“มูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นหน่วยงานที่มีความมั่นคง และเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราให้ไปนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงกับเด็กที่ขาดโอกาส เราเห็นชัดเจนในการช่วยเหลือเด็กๆ จากการทํางานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ค่ะ” ผอ.วราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
การเก็บออมเงินในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงรวบรวมเงินไปช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ด้อยโอกาสกว่าเขา แต่เป็นการสร้างนิสัยการรู้จักออม ส่งเสริมกระบวนการคิด การวางแผนการเงิน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันเป็นทักษะสำคัญที่เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องต่างๆ ทั้งการเงิน การเรียน การทำงาน เมื่อเขาโตขึ้นในอนาคต