ความเสียหายจากภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อบุคคลและประเทศชาติในทุกด้าน ทั้งความปลอดภัย สภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา หลายประเทศทั่วโลกจึงได้ยึด กรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558 – 2573 ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 187 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ให้การรับรองในการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ยุทธศาสตร์การลดความเสี่ยงภัยพิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management – CBDRM) โดยการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องโดยมีแนวทางการดำเนินงาน CBDRM ดังนี้
- การให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติให้เป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย โครงการ และการปฏิบัติงาน
- การสนับสนุนกระบวนการที่นำโดยชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ
- การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันผ่านการเตรียมความพร้อมและการบรรเทาผลกระทบก่อนเกิดภัยพิบัติ ควบคู่ไปกับการตอบสนองและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ
- การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงเป็นหลักในการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ดินถล่ม น้ำท่วม ไฟป่า และ แผ่นดินไหว
- การพยายามนำรูปแบบ CBDRM ไปใช้ให้ครอบคลุมและยั่งยืนในระยะยาว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตอบสนองเมื่อเกิดภัยพิบัติ
ที่ผ่านมามูลนิธิศุภนิมิตฯ มีพันธกิจในการช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบจากภัยพิบัติ ในรูปแบบการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติให้กับเด็กและชุมชน โดยมีเป้าหมายคือการช่วยให้ชุมชนสามารถตั้งรับและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ
- หลักสูตรลดความเสี่ยงภัยพิบัติในบริบทของโรงเรียน: มีการพัฒนาและใช้งานหลักสูตรเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงเรียนปลอดภัยรอบด้านในอาเซียน (ASSI)




- การจัดทำข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ระบุความเสี่ยงภัยของสถานศึกษาทั่วประเทศ: เพื่อให้ทราบถึงจุดเสี่ยงและเตรียมการป้องกัน
- กิจกรรมส่งเสริมความรู้ความตระหนัก: จัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนในโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงจากภัยพิบัติ


กิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งแก่คณะกรรมการจัดการภัยพิบัติ เพื่อส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนผ่านคณะกรรมการภัยพิบัติในสถานศึกษา (School Disaster Management Committee)




- การดำเนินงาน CBDRM ในพื้นที่ปฏิบัติงาน: มูลนิธิศุภนิมิตฯ มุ่งมั่นที่จะนำรูปแบบโครงการ CBDRM ที่ครอบคลุมและขับเคลื่อนโดยชุมชนไปใช้ในทุกพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อลดความเปราะบางและเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ
- การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่ทั่วประเทศเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ: การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (DRR and CCA)


การดำเนินโครงการช่วยเหลือฉุกเฉิน: ให้ความช่วยเหลือด้านที่พักพิง อาหาร น้ำดื่ม และบริการทางการแพทย์เมื่อเกิดภัยพิบัติ อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา




การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย: มูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในการดำเนินงานด้าน DRR ทั้งในระดับชุมชนและโรงเรียน รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาแผน DRR และแผนเผชิญเหตุในระดับท้องถิ่น อาทิ การร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย (Thailand Safe School Network: TSSN) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับประเทศ ในการผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ตาม กรอบการดำเนินงานความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา พ.ศ.2565 – 2573: ในประเด็นสิทธิเด็กและการปรับตัวในภาคการศึกษา


การสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมไม่เพียงช่วยให้เด็กและชุมชนสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับพวกเขาอีกด้วย