เมื่อวันที่ 1–2 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้นำเยาวชนและเจ้าหน้าที่ จำนวน 34 คน เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการ “เสริมพลังเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยจากสื่อออนไลน์ (Y-Voice Project)” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการรับมือกับภัยคุกคามจากโลกออนไลน์
โดยในการอบรมได้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT), โครงการ The HUG Project Thailand (HOG) และหน่วยชุดปฎิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ซึ่งได้ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย
คุณกนก ศรีเรือง ผู้จัดการกลุ่มโครงการพัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ – ลำปาง มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวถึงที่มา และวิสัยทัศน์ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็ก
“ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิศุภนิมิตฯ กับมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ในโครงการที่ชื่อว่า ‘เสริมสร้างพลังเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยจากสื่อออนไลน์’ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Empowering Voices of Children and Youth Coalition Led Policies for Online Safety ทางมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้สนับสนุนผู้นำเด็กและเยาวชนจากพื้นที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย รวมถึงเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ และทักษะในการป้องกันตัวเองจากภัยออนไลน์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และที่สำคัญคือ เด็ก ๆ จะได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปถ่ายทอดต่อให้เพื่อน ๆ ในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงช่วยกันรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กคนไหนต้องตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศผ่านสื่อออนไลน์”
โดยในการอบรมดังกล่าวได้มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ประกอบด้วย:
• การเรียนรู้เรื่อง “วงล้อตัวตน” เพื่อสำรวจอัตลักษณ์ของตนเอง ส่งเสริมการยอมรับความหลากหลายทางความคิดและตัวตน
• การวิเคราะห์บริบทพื้นที่ผ่านแผนที่ชุมชน เพื่อเข้าใจพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เปราะบาง และการมองเห็นทรัพยากรในชุมชน
• การเรียนรู้เกี่ยวกับ Online Grooming ซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่คนร้ายใช้วิธีสร้างความไว้วางใจ เพื่อเข้าถึงตัวเด็กและล่อลวงไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ
• กระบวนการของการคุกคามทางออนไลน์ ตั้งแต่การเลือกเป้าหมาย สร้างความลับร่วม แยกเด็กออกจากเครือข่าย ไปจนถึงการควบคุมทางอารมณ์และพฤติกรรม
• แนวทางการป้องกัน ด้วยหลัก “NO – GO – TELL” เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
นางสาวจารุวรรณ หรือ น้องว่าน อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า
“หนูรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ค่ะ ตลอดระยะเวลาในการอบรม หนูได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย ทั้งการเรียนรู้เรื่องสื่อออนไลน์ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังได้มิตรภาพดี ๆ จากเพื่อน ๆ ที่มาจากหลากหลายโรงเรียนและพื้นที่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่หนูได้รับ คือ ทักษะในการกล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถนำไปปรับใช้กับการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้านได้เลยค่ะ และที่หนูรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด คือ หนูสามารถเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมถึงสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปบอกต่อให้เพื่อน ๆ และเยาวชนคนอื่น ๆ ได้เข้าใจถึงวิธีการป้องกันตนเองจากการถูกละเมิดทางเพศ ตามแนวทาง ‘No ปฏิเสธ – Go เดินหนี – Tell บอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ’ ค่ะ”
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาคีเครือข่ายที่ให้ความสำคัญกับพันธกิจด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก เรามุ่งมั่นลดปัญหาการทารุณกรรม การแสวงหาประโยชน์ และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทั้งในครอบครัวและชุมชนที่เด็กอยู่อาศัย
เราส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการปกป้องตนเองจากการล่วงละเมิดและการแสวงหาประโยชน์ ผ่านการอบรมทักษะชีวิต พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้เด็กได้สะท้อนปัญหาที่เผชิญ ผ่านกลไกและบริการที่ส่งเสริมการคุ้มครองเด็กอย่างรอบด้าน
เรายังสนับสนุนให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น มีความหวัง และมองเห็นเป้าหมายในชีวิต ด้วยความเชื่อมั่นว่า “โลกที่ปราศจากความรุนแรงต่อเด็กนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง”