รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากถึง 2,743,673 คน คิดเป็นร้อยละ 6.92 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย (กระทรวงแรงงาน) แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวนแรงงานข้ามชาติ รวมถึงเด็ก และผู้ติดตามเข้ามาอาศัยในประเทศไทยด้วย รวมจำนวนแล้วมากถึง 5 ล้านคน แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา นับเป็นบทเรียนที่ทำให้เราทุกคนตระหนักว่า แรงงานข้ามชาติ ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำงานทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ในห้วงเวลานั้นโดยการสนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลก และการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ได้ร่วมกันพัฒนาศักภาพ “อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างชาติ” เพิ่มความรู้และทักษะในการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การสื่อสารความรู้สุขภาพ เพื่อทำหน้าที่ให้บริการ ‘สายด่วน 1422’ สื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด 19 และ/หรือแนะนำแนวทางในการป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อเจ็บป่วย สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั้ง ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ในประเทศไทย
จวบจนปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้คลี่คลายเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ยังคงมีโรคสำคัญต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ วัณโรค โรคไข้หวัดใหญ่ โรคฝีดาษลิง ฯลฯ เหล่านี้การเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องของแรงงานข้ามชาติยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ‘สายด่วนสุขภาพ 1422’ ที่รองรับเพิ่มทั้ง 4 ภาษา จึงยังเป็นที่พึ่งสำคัญในการเข้าถึงและช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เพื่อสนับสนุนให้การให้บริการ ‘สายด่วนสุขภาพ 1422’ สำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ ให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆ อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัด การประชุมพัฒนาคู่มือ ถาม-ตอบ สายด่วน กรมควบคุมโรค 4 สัญชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการขึ้นบริการสายด่วน 1422 ของสายแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนส่งเสริมเพิ่มเติมความรู้โรคอุบัติใหม่ หรือสถานการณ์การเฝ้าระวังให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ (อสต.)
นายเกรียงกมล เหมือนกรุด ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า “ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา หากไม่มีสายด่วน 1422 ไม่ว่าจะเป็นสายภาษาไทย หรือสายแรงงานข้ามชาติ จะทำให้ภาพลักษณ์และการปฎิบัติงานของกรมควบคุมโรคเป็นไปด้วยความยากลำบากเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณพวกท่านมากๆ ที่เป็นด่านหน้าในการให้ความรู้กับผู้โทรเข้ามาใช้บริการ หากไม่มีพวกท่านทางกรมฯ คงจะปฎิบัติงานยากลำบาก เพราะความแตกต่างในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม ของแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน”
การประชุมเพื่อพัฒนาคู่มือฯ ในครั้งนี้ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจจะเกิดขึ้นในชุมชน ได้แก่ โรคระบาดที่มาจากยุงลาย โรคหูดับ โรคฝีดาษลิง โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดนก เพื่อจัดเตรียมข้อมูลและแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันและการรักษา
คุณชัช ไชยโส จากสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค เน้นย้ำเกี่ยวกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรควัณโรค ถึงการรักษาและการติดตาม “แนะนำให้ผู้ป่วยทำการวางแผนในการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หากหลุดช่วงนี้ไปจะส่งผลให้เกิดสภาวะดื้อยาส่งผลให้การรักษามีความยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ให้ผู้ป่วยให้เบอร์และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้กับทางโรงพยาบาลที่รักษา เพื่อง่ายต่อการติดตามผลการรักษา สำหรับโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่ไม่ได้พบเจอในประเทศไทยและหากต้องการรับวัคซีนในโรคบางชนิดให้สอบถามกับทางประเทศปลายทางเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้เหลือง ที่มีบริการวัคซีนเพียงบ้างโรคพยาบาลเท่านั้น”
ในช่วงท้ายของการประชุม คุณอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้เสนอแนะในประเด็นสิทธิแรงงานพร้อมกับสิทธิสุขภาพที่แรงงานพึงจะได้รับหลังการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์ในเรื่องประเด็นสิทธิประกันสังคมและสิทธิประกันสุขภาพ เช่น สิทธิการเบิกค่าคลอดบุตร สิทธิเลี้ยงดู ข้อแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพและประกันสังคมม เพื่อเป็นข้อมูลให้ อสต. แนะนำสิทธิที่ประชากรข้ามชาติพึงมี
ปัจจุบันนี้ สายด่วน 1422 เป็นสายด่วนที่คอยบริการข้อมูลด้านสุขภาพมากถึง 6 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. เพื่อคอยบริการถาม – ตอบ เป็นเพื่อนคู่คิด ดูแลสุขภาพ
โรคภัย ไข้เจ็บไม่เลือกชนชาติและภาษา รัฐบาลและนายจ้างก็ไม่ควรมองข้ามสิทธิทางสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มแรงงานผู้เปราะบางเหล่านี้เช่นกัน