WVFT-logo_dark_rgb

เรากำลังต่อสู้ และต่อต้านการค้ามนุษย์

บทสนทนากับ ‘สรรพสกนธ์ ส่งสุขกาย’ ผู้จัดการการดำเนินงานโครงการ USAID Thailand CTIP มูลนิธิศุภนิมิตฯ แกนหลักขับเคลื่อนงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

“เด็กหญิงชาวไทใหญ่จากเมียนมาถูกล่อลวงไปค้าประเวณีตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนอายุ 25 ปี จากบ้านเกิดไปตั้งแต่เด็ก ความทรงจำถึงพ่อ แม่ แม้กระทั่งบ้านที่อยู่อาศัยเป็นเพียงภาพจางๆ และไม่เคยคิดว่าจะได้กลับมาเจอหน้าพ่อแม่และครอบครัวอีกครั้ง เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์รายนี้ได้กลับสู่ครอบครัว กลับสู่แผ่นดินเกิด ภาพที่พวกเขาโผเข้าสวมกอดกัน ต่างร้องไห้ด้วยความดีใจ คือความประทับใจ เป็นแรงผลักดัน เป็นแรงใจ และเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของงานที่เรากำลังต่อสู้และต่อต้านการค้ามนุษย์”

นี่คือความหมายในงานที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของ พี่ตุ๋ย – สรรพสกนธ์ ส่งสุขกาย ผู้จัดการการดำเนินงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย – USAID Thailand CTIP Project ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้การสนับสนุนจาก Winrock International และ USAID และยังเป็นกรรมการกระบวนการความร่วมมือระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Coordinated Mekong Ministerial Initiative Against Trafficking: COMMIT Process) ของประเทศไทย ชายผู้นี้คร่ำหวอดกับการขับเคลื่อนพันธกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี … วันนี้เราจะมาพูดคุยกับเขาถึงประสบการณ์การทำงานและพันธกิจการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ

เริ่มต้นงานต่อต้านการค้ามนุษย์…ในวันที่สังคมไทยรู้จักเพียงแค่คำว่า การค้าประเวณีผู้หญิงและเด็ก

“พี่ทำงานกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ มานานกว่า 20 ปีแล้ว มูลนิธิศุภนิมิตฯ เริ่มดำเนินโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ตั้งแต่ปี 2000 โดยได้รับทุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน สมัยนั้นเรารู้จักกันแค่การค้าประเวณีผู้หญิงและเด็ก ยังไม่มีการนิยามว่าการค้ามนุษย์คืออะไร พรบ.การค้ามนุษย์ ก็เพิ่งจะมีเมื่อปี 2008 (พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551) แต่แน่นอนมันมี Case ซึ่งไม่ใช่แค่การค้าประเวณีผู้หญิงและเด็ก เราพยายามจะหาทางช่วยเหลือ ป้องกัน แก้ไขปัญหา สมัยนั้นดำเนินการอยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.ระนอง เราพบว่าการป้องกันไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์ทำเฉพาะที่ประเทศไทยไม่ได้ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มีทั้งที่เป็นคนไทย และจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เลยขยายความร่วมมือกับ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ร่วมกันทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์”

Theory of change มองเป้าหมายระยะยาวสู่สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์

“งานต่อต้านการค้ามนุษย์จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องประกอบทั้งการเปลี่ยนแปลงจากระดับนโยบาย ระดับรัฐบาล ข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะด้านกฎหมายและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ต้องเหมือนหรือคล้ายกัน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขในระดับนโยบายของประเทศ ขณะเดียวกันถ้านโยบายเปลี่ยนแต่คนไม่ตระหนัก ขาดความรู้ มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง การทำงานการต่อต้านการค้ามนุษย์เราก็เลยครอบคลุมในทุกๆ ด้านตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”

คำว่า ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ของ สรรพสกนธ์ เชื่อมโยงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประกอบด้วย Prevention – การรณรงค์ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ Protection – การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามสิทธิและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ Prosecution –การสนับสนุนให้ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความรู้และเข้าใจการปฏิบัติตามกระบวนการต่างๆ ทั้งการคัดแยก คัดกรองเพื่อระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ Policy – การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย และ Partnership –การทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม หมายรวมถึงกับประเทศเพื่อนบ้าน และองค์กรระหว่างประเทศด้วย

พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานการช่วยเหลือ บริการและคุ้มครอง (Service Provider)

“ตั้งแต่ปี 2017 เราได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID)โดยมีผู้รับทุนหลักคือ Winrock International ในการดำเนินงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (USAID Thailand Counter Trafficking In Persons Project – CTIP Project) ดำเนินงานใน 4 จังหวัด คือ เชียงราย ตาก สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว จากบทบาทเดิมที่เราทำงานโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มเสี่ยง ชุมชน เราเปลี่ยนบทบาทซึ่งจะช่วยทำให้เราสามารถขยายผลการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้เกิดผลมากยิ่งขึ้นผ่านการทำงานกับผู้ปฏิบัติงานให้การช่วยเหลือ บริการและคุ้มครอง (Service Provider) ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องทำงานโดยตรงและเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การทำงานเชิงเครือข่ายร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรวิชาชีพโดยตรง เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา โดยบทบาทของเราจะเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มเหล่านี้มีศักยภาพในการทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่มากขึ้น มีการคุ้มครองมากขึ้น ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายได้มากขึ้นในลักษณะการอบรม การประชุม การระดมความคิด ถอดบทเรียนการทำงาน และให้พวกเขามีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์”

สรรพสกนธ์ ขยายความเพิ่มเติมว่า “มูลนิธิศุภนิมิตฯ เปลี่ยนบทบาทสู่องค์กรผู้สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ มีการจัดทำแผนขับเคลื่อนงานพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฎิบัติ และแนวทางการปฏิบัติงานให้กับทีมสหวิชาชีพให้เข้าใจถึงแนวทางการทำงานด้านการคัดแยก คัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมกันส่งเสริมความรู้ให้เข้าใจข้อกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้อง เรายังคงมีการทำงานด้านการป้องกัน รณรงค์โดยผลักดันในระดับจังหวัดให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับอำเภอ 4 แห่งคือที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ซึ่งอำเภอเหล่านี้ติดชายไทยเมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อให้การตอบสนองและเข้าช่วยเหลือเมื่อมีเหตุเป็นไปอย่างรวดเร็วและเข้าถึงมากขึ้น เราเชื่อมโยงการทำงานของมหาดไทย (ปกครอง) กลาโหม (ทหาร) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำรวจ) สาธารณสุข (โรงพยาบาล) แรงงาน รวมถึงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคประชาชน มาทำงานร่วมกัน และเราก็ยังไม่ทิ้งงานงานผลักดันในเชิงนโยบาย ที่ผ่านมาเรามีการจัดทำสรุปบทเรียน (Learning Brief) ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติที่ถูกเอารัดเอาเปรียบนำเสนอในเวทีเสวนาแรงงานข้ามชาติระดับประเทศ จนที่สุดมีการผลักดันให้แรงงานข้ามชาติต่างๆ สามารถเข้าถึงสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานที่มากขึ้น คำว่ามากขึ้นในที่นี้หมายถึง มีสื่อ มีช่องทางการสื่อสารเกี่ยวกับสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติควรจะได้รับตามสิทธิ การแจ้งเหตุเมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบ สื่อสารด้วยภาษาลาว เมียนมา กัมพูชา และภาษาอื่นตามเหมาะสม เพื่อให้พวกเขาเข้าใจ รวมถึงมีการจัดเตรียมล่ามเป็นตัวกลางในการสื่อสาร”

องค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับความไว้วางใจ (Partner of Choice) ในงานต่อต้านการค้ามนุษย์

“ปัจจุบันในการดำเนินโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เรายึดหลักตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการใช้บังคับแรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 (National Referral Mechanism – NRM) ในการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ทำงานสนับสนุนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มีการทำงานประสานกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อลดอุปสรรคด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ ที่ปัจจุบันยังคงมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นงานเพื่อการพัฒนากลไกการส่งต่อระหว่างประเทศ (Transnational Referral Mechanism – TRM) อย่างเป็นระบบ ซึ่งประเด็นนี้ต้องเป็นการขับเคลื่อนในระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นกรรมการฯ และตัวพี่เองได้เป็นตัวแทนองค์กรเข้าประชุมและเป็นกรรมการ กระบวนการความร่วมมือระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Coordinated Mekong Ministerial Initiative Against Trafficking : COMMIT Process) ส่วนระดับจังหวัดทางโครงการ CTIP ก็ขับเคลื่อนการทำงาน Cross Border ระหว่างเชียงราย-แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และสระแก้ว-ปอยเปต กัมพูชา ด้วย เรายังให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบแรงงานเพื่อคัดกรองผู้เสียหายด้านแรงงานโดยเฉพาะได้อย่างมีมาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรา 6/1 ซึ่งจะทำให้สามารถระบุและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้มากขึ้น ซึ่งผู้กระทำผิดจะได้รับโทษรุนแรงกว่า งานด้านการสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงานของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นแสกมเมอร์-Scammer แก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ เป็นข้อท้าทายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จากการบังคับให้กระทำความผิดทางอาญา (Forced Criminality) ด้วย โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายทำการศึกษาวิจัยการล่อลวงคนไทยไปแสวงประโยชน์เพื่อธุรกิจผิดกฎหมาย และค้ามนุษย์ ใน 3 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยศึกษาจาก Case ที่ถูกล่อลวงไปทำงานทั้งที่กัมพูชาและลาว โดยผู้เสียหายที่ถูกล่อลวงจะเป็นคนไทยที่มีการศึกษา มีความรู้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ข้อมูลจากการวิจัยนอกจากจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายแล้ว ยังจะนำไปสู่การทำงานด้าน Prevention – การรณรงค์ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมต่อไปด้วย”

แม้จะมีหลากหลายความท้าทายและปัจจัยใหม่จากกระบวนการค้ามนุษย์ พันธกิจการต่อต้านการค้ามนุษย์จำเป็นต้องผนึกกำลังจากหลายภาคส่วนร่วมกัน สำหรับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย พันธกิจการต่อต้านการค้ามนุษย์ยังคงต้องดำเนินต่อไป และมี ‘สรรพสกนธ์ ส่งสุขกาย’ เป็นแกนหลักขับเคลื่อนงาน

บทความอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า