กำจัดมาลาเรียให้หมดไป ‘ศุภนิมิตฯ ทำอะไรบ้าง?’

คำบอกเล่าจาก 'คุณจินตนา ธรรมสุวรรณ' ผู้จัดการโครงการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตฯ บุคคลสำคัญที่คอยกำกับและดูแลขับเคลื่อนพันธกิจกำจัดมาลาเรีย

เป็นเวลา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2014 (2557) ที่ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก กองทุนโลก (The Global Fund) ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการกำจัดมาลาเรียให้หมดไปผ่านการดำเนินงาน โครงการกำจัดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Regional Artemisinin Resistance Initiative (RAI) ผสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย และการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา

“บทบาทหลักของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการทำงานการกำจัดมาลาเรียให้หมดไป คือการทำงานด้านการส่งเสริมความรู้ สร้างความตระหนัก การป้องกันการแพร่ระบาด และการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวัง โดยสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของมูลนิธิศุภนิมิตฯ คือการมีเครือข่ายภาคประชน หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในแง่การเข้าถึงพื้นที่ และการเข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมด้วย”

คำบอกเล่าจาก คุณจินตนา ธรรมสุวรรณ ผู้จัดการโครงการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติมูลนิธิศุภนิมิตฯ บุคคลสำคัญที่คอยกำกับดูแลและขับเคลื่อนพันธกิจกำจัดมาลาเรีย รวมถึงโรคติดต่อที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพสำคัญระดับโลกอย่าง เอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค… วันนี้เธอจะมาถ่ายทอดการทำงานเพื่อการพัฒนาสุขภาพและสิทธิในกลุ่มประชากรข้ามชาติและชาติพันธุ์ ผ่านการทำงาน โครงการกำจัดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

รู้จักราชาแห่งโรคเมืองร้อน ‘มาลาเรีย’

มีไข้สูงแต่ไม่มีน้ำมูก หนาวสั่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร สำหรับรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หากไข้มาลาเรียขึ้นสมองอาจทำให้มีอาการชักเกร็ง อวัยวะภายในล้มเหลวหลายระบบจนกระทั่งเสียชีวิต สำหรับผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ นี่คืออาการและความรุนแรงของ โรคไข้มาลาเรีย โรคติดต่อที่มีพาหะ คือ ยุงก้นปล่อง และยังคงมีความชุกของโรคในแถบจังหวัดตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมา รวมถึงในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าของประเทศไทย และในประเทศเขตร้อนทั่วโลก

World malaria report 2023 โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่ามีประชากรโลกป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียกว่า 249 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นถึง 5 ล้านคนจากข้อมูลในปีที่ผ่านมา และผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมากถึงร้อยละ 76 จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยจากข้อมูล โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย (Thailand Malaria Elimination Program) มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อมาลาเรีย 16,532 ราย เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากจำนวนผู้ป่วยในปี 2022

“ทั่วโลกต้องใช้งบประมาณหลายล้านล้านบาทต่อปีเพื่อจัดการกับโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งงานการกำจัดมาลาเรียเป็น 1 ใน 3 โรคต่อต่อร้ายแรงที่กองทุนโลกให้ความสำคัญ และมีการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่มีความชุกและมีความเสี่ยงการระบาดสูง มีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา สำหรับประเทศไทยความชุกของมาลาเรียจะอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยเฉพาะแนวป่าและภูเขาสูงระหว่างไทย-เมียนมา โดยเชื้อมาลาเรียที่ก่อให้เกิดโรคในคนมี 5 ชนิด แต่ที่เราให้ความสำคัญและเฝ้าระวังมากหลักๆ คือ เชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียมฟัลซิปารัม (P.f) ซึ่งเป็นเชื้อมาลาเรียชนิดรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุของอาการไข้มาลาเรียขึ้นสมองที่ทำให้เสียชีวิต เชื้อมาลาเรียอีกชนิดคือเชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียม ไวแวกซ์ (P.v) มีอาการรุนแรงน้อยกว่าแต่หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้มีอาการป่วยรุนแรง เชื้อชนิดนี้สามารถแฝงตัวในตับได้หลายปีทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นโรคซ้ำๆ ซึ่งการจะรู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียชนิดใดก็จะต้องมีการเจาะเลือดนำไปตรวจ ซึ่งการรักษาแพทย์ก็จะจ่ายยาโดยพิจารณาจากเชื้อมาลาเรีย ความรุนแรงของอาการ อายุของผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยเมื่อได้รับการรักษาและกินยาโดยปกติจะสามารถหายป่วยได้ภายใน 2 สัปดาห์”

กำจัดเชื้อมาลาเรีย ‘ศุภนิมิตฯ ทำอะไรบ้าง?”

“ประเทศไทยมีการกำหนดให้โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ และเป็นโรคที่ต้องเร่งกำจัดตามพันธะสัญญากับนานาชาติ ในการทำงานกำจัดโรคไข้มาลาเรียโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ เราเองก็จะทำงานในลักษณะการประสานใกล้ชิดกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค และองค์กรเอกชนในพื้นที่ ซึ่งก็จะมีพื้นที่ดำเนินงานเปลี่ยนไปบ้างตามจังหวัดที่เป็นเขตความชุกของโรคสูง โดยในช่วงปี 2021-2023 มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการดำเนินงานโครงการกำจัดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Regional Artemisinin Initiative 3 Elimination (RAI3E) ใน 2 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน และตาก โดยดำเนินงานทั้งในกลุ่มเด็กในโรงเรียน และในกลุ่มประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ บทบาทหลักของเราคือการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมโรคในพื้นที่โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (ศตม.) หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (นคม.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โดยกิจกรรมหลักจะเป็นการสนับสนุนมุ้งชุบสารเคมีชนิดออกฤทธิ์ยาวนาน (Long-Lasting Insecticidal Net (LLIN) งานการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งการสื่อสารความรู้การป้องกันการแพร่ระบาดเกี่ยวกับโรคไข้มาลาเรีย งานด้านการจัดการผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงการติดตามการกินยาเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดมาลาเรียดื้อยาที่อาจจะส่งผลให้โรคมีความรุนแรงและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมากขึ้น และยังมีงานด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนทั้งในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) และการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน สถานศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้นำชุมชน ในการร่วมกำจัดมาลาเรีย ในส่วนงานด้านการป้องกัน ควบคุมโรค การตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษา และงานด้านระบบข้อมูล Thailand Malaria Elimination Program ซึ่งเป็นระบบการรายงานออนไลน์ ดำเนินงานโดยบุคลากรของหน่วยงานสาธารณสุข”

ความเข้มแข็งของ ‘ศุภนิมิตฯ’ ในงานการกำจัดมาลาเรีย

“สิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของมูลนิธิศุภนิมิตฯ คือ การมีเครือข่ายภาคประชน หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในแง่การเข้าถึงพื้นที่ และการเข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมด้วย เราต้องไม่ลืมว่าในพื้นที่ทำงานของเราทั้งที่แม่ฮ่องสอน และตาก มีสัดส่วนของประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ที่สูงมาก การมีส่วนร่วมจากเครือข่าย อสต. ไม่เพียงทำให้เรามีทรัพยากรคนที่มากขึ้น แต่ อสต. เหล่านี้ยังมีความสำคัญทำให้เราสามารถทำงานทั้งการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคในภาษาที่ชาวบ้านในชุมชนสามารถเข้าใจได้ เป็นหูเป็นตาคอยเฝ้าระวังโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติที่มีการเคลื่อนไหวย้ายถิ่นทั้งเข้าและออก เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อมีผู้ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่จะนำโรคติดต่อมากับตัวเขาหรือไม่ อสต. คือ ปัจจัยที่สำคัญมากทำให้มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถดำเนินงานการกำจัดมาลาเรียในพื้นที่ ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา การมีสุขภาพที่ดีให้กับทุกคนได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันเรามี อสต. ที่สนับสนุนงานการกำจัดมาลาเรียของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในพื้นที่แม่ฮ่องสอนและตากรวม 128 คน ทั้งหมดผ่านการอบรมความรู้ทั้งการทำงานจิตอาสา การสื่อสารสุขภาพ และความรู้เกี่ยวกับมาลาเรียรวมถึงสุขภาพพื้นฐานและโรคทั่วไป”

อะไรคือความยั่งยืนสำหรับงานการกำจัดมาลาเรีย?

ก่อนที่เราจะจบบทสนทนา คุณจินตนา ได้กล่าวถึงภาพความยั่งยืนที่อยากให้เกิดขึ้นสำหรับการขับเคลื่อนงานการกำจัดมาลาเรีย “วัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรีย คนทำงานด้านการกำจัดมาลาเรียทุกคนอยากให้เกิดขึ้นและมีการกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้มีการรับรองวัคซีนป้องกันโรคไข้มาลาเรียสำหรับเด็กและมีการใช้เพื่อลดการเสียชีวิตสำหรับเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียในทวีปแอฟริกาแล้ว นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือพฤติกรรมของคนในการป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ ยุงก้นปล่องออกหากินตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า ซึ่งหลายคนอาจจะยังคงต้องอยู่นอกบ้าน เด็กนักเรียนออกไปทำการบ้าน หาข้อมูล ใช้อินเตอร์เน็ต ครอบครัวยังล้อมวงสนทนาอยู่นอกบ้าน หรือบางคนที่เป็นแรงงานเกษตรอาจจะต้องออกไปไร่สวนตั้งแต่ยังไม่สว่าง เพราะฉะนั้น มุ้งชุบสารเคมีอาจจะไม่ตอบโจทย์ในการป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออย่างครอบคลุม เรายังคงต้องทำงานหนักขึ้นในการสร้างความตระหนักให้กับเด็ก กับชุมชน ในการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงของโรคไข้มาลาเรีย ให้เขารู้และลงมือปฏิบัติ และสุดท้ายเรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อมาลาเรียดื้อยาซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งกับชีวิตและสูญเสียทางเศรษฐกิจในการควบคุม ป้องกัน และหาแนวทางเพื่อการรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียทุกคน เราเน้นให้ อสม. และ อสต.ติดตามการกินยาจนกว่าจะหายเป็นปกติ แค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ใช้เวลาในการรักษาที่สั้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับ เอชไอวี/ เอดส์ ที่ต้องกินยาต้านไวรัสตลอดชีวิต หรือวัณโรคที่จะต้องกินยารักษาอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับผู้ป่วยเราก็จะเน้นย้ำเรื่องการดูแลตนเอง ลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดการระบาดไปสู่ผู้อื่นด้วย”

ผลการดำเนินงานกำจัดมาลาเรียโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ปี 2023

จากการดำเนินงาน โครงการกำจัดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Regional Artemisinin Initiative 3 Elimination (RAI3E) ในปี 2023 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก โดยการสนับสนุนจาก กองทุนโลก ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ หน่วยงานสาธารณสุข และมูลนิธิรักษ์ไทย มีกิจกรรมหลักๆ ทั้งการให้สุขศึกษาเรื่องโรคไข้มาลาเรีย การสื่อสารรณรงค์เพื่อเกิดความตระหนัก การสนับสนุนการตรวจและรักษา การส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ รวมถึงงานด้านการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

Dr Tedros Adhanom Ghebreyesus, Director-General, World Health Organization ได้กล่าวใน World malaria report 2023 ว่า “ความแปรปรวนของภูมิอากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และปริมาณฝนตก อาจส่งผลต่อพฤติกรรม ความอยู่รอด และวงจรชีวิตของยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะของมาลาเรีย ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วอย่างเช่นคลื่นความร้อน และน้ำท่วมรุนแรงอาจทำให้การการแพร่ระบาดและโรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีผลกระทบทางอ้อมต่อโรคไข้มาลาเรียด้วย”

“กำจัดมาลาเรียให้หมดไป ประเทศไทยทำได้” นี่คือคำขวัญสำหรับวันมาลาเรียโลก ประจำปี 2024 โดยกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ทุกภาคส่วนต่างผสานความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีอย่างเท่าเทียมให้กับทุกคนในการกำจัดมาลาเรีย สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น อาจจะเป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายที่เราทุกคนต้องร่วมกันเตรียมพร้อมรับมือ… กำจัดมาลาเรียให้หมดไปโดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยทำได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า