โมเดลจัดการภัยพิบัติที่นำโดยคนท้องถิ่น ยกระดับชุมชนสู่ความเข้มแข็ง

ชุมชนริมทะเลลุกขึ้นจัดการภัยธรรมชาติ จนกลายเป็นต้นแบบระดับประเทศ ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยและสภากาชาด

ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาฯ จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนริมทะเลแห่งนี้ล้วนเผชิญกับภัยธรรมชาติมาหลายต่อหลายปี ทั้งน้ำทะเลหนุน อุทกภัย ภัยแล้ง จนกระทั่ง ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยและสภากาชาด ผนวกกับแรงขับเคลื่อนของคนในชุมชนที่อยากบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง “พื้นที่ของเราประสบกับภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเลหนุน อุทกภัยทุกปี เราเผชิญมาตลอด” นายประจักร์ แขดวง ผู้ใหญ่บ้านเล่า “เมื่อมูลนิธิศุภนิมิตฯ เข้ามาทำงานในพื้นที่ เล็งเห็นถึงความไม่ปลอดภัยของเด็ก ๆ ในการเดินทางไปกลับโรงเรียน เพราะเราอยู่ชายทะเล ทำให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น” 

มูลนิธิศุภนิมิตฯ เข้ามาเป็นทีมนำร่องครั้งแรกในการจัดอบรมให้ความรู้ ต่อมา สถานีกาชาดสิรินธร สภากาชาดไทย ได้เข้ามาอบรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งและตั้งรับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมีคณะกรรมการชุมชนจัดการภัยพิบัติประกอบด้วย 5 ฝ่าย ครอบคลุมทุกมิติของการรับมือภัยพิบัติ

  • ฝ่ายอำนวยการ: ดูแลสั่งการ ควบคุมฝ่ายต่าง ๆ ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกและภายใน
  • ฝ่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย: ติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุฯ และสังเกตสภาพพื้นที่จริง
  • ฝ่ายรักษาความปลอดภัย: ดูแลความปลอดภัยของชาวบ้าน และการเคลื่อนย้ายประชาชนขณะเกิดภัย
  • ฝ่ายอพยพและสงเคราะห์ผู้ประสบภัย: อพยพชาวบ้านมายังจุดรวมพล และดูแลเรื่องอาหารการกิน
  • ฝ่ายปฐมพยาบาลและกู้ภัย: ดูแลผู้เจ็บป่วย และผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน

คณะกรรมการทั้ง 50 คนมาจากชาวบ้านในชุมชนล้วน ๆ ถูกคัดเลือกจากแต่ละคุ้มบ้าน 6 คุ้ม ประกอบด้วยภาคีเครือข่าย องค์การบริหารส่วนตำบลฯ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ครู หมอ พยาบาล โดยมีมูลนิธิศุภนิมิตฯ และสภากาชาด เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ

น้ำทะเลหนุนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจะรู้ได้อย่างไร ผู้ใหญ่ประจักร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ด้วยเรามีพื้นที่ติดกับป่าชายเลนที่เชื่อมกับทะเล ภูมิปัญญาชาวบ้านเรารู้จักข้างขึ้นข้างแรม ขึ้น 14 ค่ำ จนถึงแรม 5 ค่ำ น้ำทะเลจะหนุนสูง ตอนหนุนสูงจะท่วมประมาณ 2 ชั่วโมง และค่อย ๆ ลดลงในอีก 5 ชั่วโมง แต่สร้างความเสียหายหนักมากในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งบ้านเรือน น้ำกิน น้ำใช้ต่าง ๆ “ ด้วยการผสมผสานความรู้สมัยใหม่จากการพยากรณ์อากาศกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ชุมชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที

ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไม่ใช่เพียงช่วยให้คนในชุมชนตั้งรับและจัดการภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที แต่ยังนำมาใช้กับเหตุการณ์ที่อาจคาดไม่ถึงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง “เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้นำความรู้จากการอบรม CPR ไปช่วยชีวิตคน” ผู้ใหญ่ประจักร์ เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ “ผมไปสวนส้มโอ ได้รับแจ้งว่ามีคนเป็นลม เขาหมดสติ ผมได้ทำ CPR และโทรประสาน 1669 ผมปั๊มหัวใจอยู่คนเดียวจนกู้ชีพมาได้ แม้สุดท้ายผู้ป่วยจะเสียชีวิตหลังจากอยู่โรงพยาบาล 3 วัน แต่กู้ชีพบอกผมว่าถ้าผมไม่ได้ปั๊มหัวใจให้ เขาอาจะเสียชีวิตตั้งแต่วันนั้นเลย”

อีกเรื่องประทับใจมาจาก นางสาวจารุณี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าเสริมว่า “ช่วงน้ำทะเลหนุน พี่ได้เข้าไปช่วยเรื่องการเบิกยาประจำตัวคนป่วยในชุมชน เพราะตอนนั้นเขาออกมาไม่ได้ รู้สึกภาคภูมิใจมากค่ะที่ได้ช่วยผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางทั้ง 8 คนที่ติดเตียง”

ชุมชนแห่งนี้ไม่เพียงสามารถดูแลตนเองได้ แต่ยังกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ “เรามีเจ้าหน้าที่จากสถานีกาชาดทั่วประเทศมาดูงาน มารับฟังการนำเสนอวิธีเตรียมความพร้อม และเยี่ยมชมพื้นที่จริง” ผู้ใหญ่ประจักร์ เล่า ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการจัดอบรมให้ความรู้กับหมู่บ้านใกล้เคียงและนักเรียนในชุมชนอีกด้วย

“การพัฒนาต้องเริ่มที่ตัวเราก่อนเสมอ” ผู้ใหญ่ประจักร์ ทิ้งท้าย “ถ้าเราเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างให้เขาเห็นว่าเราทำจริงจัง การดึงชาวบ้านมาร่วมด้วยไม่ยากเลย แต่ถ้าเราให้แต่ชาวบ้านทำ แบบนี้ยาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้นำ ต้องเป็นผู้นำจริง ๆ ผู้ตามก็จะเชื่อมั่นในผู้นำ”

ปัจจุบัน คณะกรรมการจัดการภัยพิบัติชุมชนได้พัฒนาบทบาทมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับหมู่บ้านใกล้เคียง ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ จนได้รับการยอมรับให้เป็นชุมชนต้นแบบ มีเจ้าหน้าที่จากสถานีกาชาดทั่วประเทศและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาศึกษาดูงาน ความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานที่อาศัยความจริงใจ ความทุ่มเท และการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน จากชุมชนที่เคยเผชิญภัยธรรมชาติอย่างโดดเดี่ยว สู่การเป็นต้นแบบการจัดการภัยพิบัติที่เข้มแข็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก กำจัดมาลาเรีย ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก ความเชื่อและการพัฒนา งานรณรงค์เพื่อเด็ก จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน นโยบายการพัฒนาเด็ก น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ภัยพิบัติ ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ส่งน้องจบ ป-ตรี อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เด็กไร้รัฐ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า