มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เตรียมพร้อมต้อนรับ วันเด็กสากล (World Children’s Day) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า วันสิทธิเด็กสากล (Universal Children’s Day) ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้มีขึ้นทุกวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของเด็ก และเป็นการย้ำเตือนถึงวันที่สมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อปี 2497 และการรับรอง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อคุ้มครองครองสิทธิของเด็กทุกคนในทุกหนแห่ง เมื่อปี 2532 ด้วย
สำหรับ ประเทศไทยได้มีการลงนามภาคยานุวัติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 ให้คำมั่นสัญญากับเด็กทุกคนว่าเราทุกคนจะให้ความคุ้มครองดูแลเด็กอย่างเต็มความสามารถและเท่าเทียมกัน
ในฐานะองค์กรคริสเตียนเพื่อการพัฒนาและสาธารณกุศลโดยมีเด็กเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน และมีพันธกิจที่สำคัญคือการมอบโอกาสและทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่พวกเขามี และเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันเด็กสากล และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิเด็ก มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงได้จัด การอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘World Children’s Day – สร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการลงทุนในเด็กและเยาวชน’ โดยเป็นการอบรมที่เจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกระดับทั่วประเทศจะต้องเข้าร่วม
“กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เราจะตอกย้ำบทบาทของเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ทุกคน ทุกระดับ ซึ่งทุกคนต่างก็มีบทบาทเป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิเด็ก’ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ทุกคนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ จะต้องแสดงออกและตอบสนองต่อสิทธิเด็กได้อย่างเหมาะสม นั่นหมายถึงว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องเข้าใจว่าเด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และเด็กมีสิทธิในการมีส่วนร่วม และในตอนท้ายของการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ จะเป็นกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมร่วมระดมสมองของแต่ละส่วนงานเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของสิทธิเด็กและงานที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบอยู่ โดยมีคำถามสำคัญในการระดมสมองคือ งานของแต่ละส่วนงานมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ และจะสามารถพัฒนางานในความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายได้อย่างไรเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็ก” คุณอมรพจี อุปมัย Child Protection & Advocacy Advisor มูลนิธิศุภนิมิตฯ ฉายภาพรวมการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ
เพราะเด็กทุกคนในโลกนี้คือ ‘ผู้ทรงสิทธิ’ พวกเขาเกิดมาพร้อมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) เราสามารถตอบได้อย่างเต็มเสียงหรือไม่ว่า ปัจจุบันเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เด็กพึงมีนับตั้งแต่เกิด? และในฐานะผู้ใหญ่ สิ่งที่เราคิดเพื่อเด็ก สิ่งที่เราทำเพื่อพวกเขา เราคำนึงถึงบทบาทของเราในฐานะผู้ใหญ่ ‘ผู้พิทักษ์สิทธิเด็ก’ หรือไม่?