WVFT-logo_dark_rgb

เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้

อะไรที่ทำให้ ‘มิว’ เด็กหญิงที่เกิดและโตในชุมชนคลองเตยพลิกชีวิตเป็นเศรษฐีอะพาร์ตเมนต์ได้

ดร.มิว-พรทิพา กรุดลอยมา เจ้าของฉายาเศรษฐีอะพาร์ตเมนต์ ชื่อคุ้นหูที่คร่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์และกรรมการผู้จัดการบริษัท โรจนพัฒน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับระบบกรองน้ำที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และยังเป็นฮีโร่ของเด็กๆ ในฐานะผู้อุปการะ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยมากว่า 15 ปี

ถอยกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ‘มิว’ ในวัย 13 ปี มีความฝันที่อยากจะซื้อบ้านให้แม่ เพื่อหลีกหนีจากความวุ่นวายในย่านชุมชนแออัด ซึ่งตอนนั้นเธอรู้ว่ามีเพียง 2 ทางที่จะช่วยพลิกชีวิตเธอได้ อันดับแรกเธอต้องเรียนให้ดีเพื่อขอทุนการศึกษา ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียน ด้วยความที่เธอเป็นเด็กขยันอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนเธอจึงได้รับทุนการศึกษา  ทุนอาหารกลางวัน และสองต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะหาเงิน อาชีพเสริมไม่ว่าจะเป็นล้างหม้อโจ๊ก ขายหนังสือ เสิร์ฟอาหาร เธอเก็บหอมรอมริบทีละเล็กทีละน้อยแต่ฝันที่จะซื้อบ้านยังห่างไกลเกินเอื้อม แต่ด้วยเวลาไม่คอยท่าเพราะแม่เริ่มแก่ตัวลง เธอจึงต้องรีบประสบความสำเร็จให้ไว ช่วงที่ตัดสินใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกที่จะเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อหวังนำเงินเดือนมาสานฝันเธอให้เป็นจริงเร็วๆ “ม.ปลาย พี่มีความฝันที่อยากเป็นหมอ แต่รู้ว่าที่บ้านฐานะยากจน ถ้าเรียนหมอต้องใช้เวลาเรียนนาน ก็ค่อนข้างกังวล เพราะตอนนั้นแม่อายุเยอะแล้วห่างกับพี่ถึง 40 ปี เลยเบนเข็มมาที่วิศวะและมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนให้ได้”

ในช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิต เธอมีอาชีพเสริมที่หลากหลายและได้ค่าตอบแทนมากขึ้น เริ่มมีเงินเก็บหลักล้านจนสามารถทำตามความฝันได้สำเร็จ “พอเข้ามหาลัย เราทำเงินได้หลักล้านแล้ว เพราะมีหลายอาชีพ เช่น ขายของสวนจตุจักรก็เป็นหลักหมื่นถึงแสน มีสอนพิเศษที่บริติช อเมริกัน (British American) ในวิชาคำนวณและงานพริตตี้ซึ่งในสมัยก่อนก็จะแต่งตัวแตกต่างจากปัจจุบันเป็นชุดมาจากญี่ปุ่นใส่สูทกระโปรงชุดน่ารักๆ ทั้งหมดที่ทำพอได้เงินเก็บออมมาจึงยื่นซื้อบ้านตอนอยู่ ปี 2”

แต่ทุกอย่างย่อมมีอุปสรรค เพราะในปีที่จบการศึกษา พ.ศ. 2540 เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้บ้านที่ผ่อนดาวน์มาทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ โชคดีที่ยังพอมีเงินเก็บอยู่เธอจึงเริ่มทำงานประจำได้ 2 ปี และลาออกมาเป็นเซลล์ขายเครื่องกรองน้ำ ด้วยความรู้ด้านวิศวกรรมทำให้การขายเครื่องกรองน้ำของเธอแตกต่าง สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทขายระบบกรองน้ำในระบบอุตสาหกรรม

ด้วยความที่เป็นนักลงทุน นักเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ดร.มิว เห็นโอกาสในการต่อยอดทุนที่มีอยู่จึงเริ่มลงทุนทำอะพาร์ตเมนต์โดยเน้นในกลุ่มของนักศึกษาเป็นหลัก “เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ เราจะรู้คุณค่า พอเรารู้ค่า เราจะไม่อยากให้เงินหายไปไหนมันก็จะทำให้เราเรียนรู้ที่จะลงทุนที่ทำให้เงินงอกเงยขึ้นมาและรักษาเงินเดิมไว้ได้” ดร.มิว กล่าวเสริม

พอเริ่มตั้งตัวได้ ดร.มิว เลือกที่จะตอบแทนคืนให้กับสังคม ช่วยเหลือเด็กๆ และครอบครัวที่เปราะบางยากไร้ โดยมีลูกเป็นแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดให้อยากช่วยเหลือเด็กคนอื่นๆ “การที่เราอุปการะเด็ก 1 คน มันจะต่อยอดไปถึงครอบครัวเขา ถึงคนต่างๆ มากมายมันจะไม่ใช่แค่เราให้กับคนนี้คนเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราสนับสนุนน้องๆ สามารถทำให้เขาเติบโตขึ้นมาได้เขาก็จะเป็นอนาคตที่ดีของชาติ พอเขาจบมาเขามีงานทำ เขาก็จะกลับมาเลี้ยงครอบครัวของเขา ถ้าเขาสามารถประกอบกิจการเป็นเจ้าของธุรกิจ เขาก็สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องพนักงาน ก็จะส่งต่อไปยังครอบครัวของพนักงานเหล่านั้นอีก”

‘โครงการอุปการะเด็ก’ โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ไม่ได้มอบเป็นเงินสดให้กับเด็กโดยตรงแต่จะถูกนำไปจัดสรรรวมกับเงินบริจาคผู้อุปการะท่านอื่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเด็กในความอุปการะ ครอบครัว และชุมชนยากไร้ในพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัย ก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กจากครอบครัวยากไร้ให้อยู่ดีมีสุข ในปัจจุบัน ดร.มิว ได้อุปการะเด็กๆ จำนวน 6 คน ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น 

ดร.มิว เป็นอีกบุคคลตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัดว่า แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะมีชีวิตที่แตกต่างได้ เป็นตัวแทนฮีโร่แห่งความพากเพียรและพยายามจนสามารถดูแลตนเองและครอบครัว พร้อมส่งต่อพลังงานดีๆ มาถึงเด็ก และครอบครัวเปราะบางยากไร้ให้ได้มีโอกาสและชีวิตที่ดียิ่งขึ้น “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ ไม่ว่าจะเกิดมายังไง เราไม่ต้องไปคิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่เป็นเราในวันนี้ กว่าเราจะเติบโตมีเวลาหลาย 10 ปี เพราะฉะนั้นเราอยากเป็นอะไรเราเป็นได้ทั้งหมด ขอให้เราตั้งเป้าหมาย เชื่อมั่นในตนเองเราก็จะสามารถเปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นได้” เธอกล่าวส่งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Advocacy Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก ความเชื่อและการพัฒนา งานบรรเทาทุกข์ งานรณรงค์เพื่อเด็ก จัดการภัยพิบัติ จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ประชากรข้ามชาติ ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า