หากจะเปรียบ ‘การอุปการะเด็ก’ สักคนให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น คงเป็นเหมือนการดูแลกล้าพันธุ์ไม้ต้นเล็กๆ ที่ต้องคอยประคบประหงม รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ แม้ต้องใช้เวลาแต่ไม่นานเกินรอก็ได้ชื่นชมดอกผลที่สวยงาม อย่างเช่น ‘ครูมะปราง วธัญญา’ อดีตเด็กในความอุปการะของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนดูแลมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
จากเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ขี้อายในชุดนักเรียนมอมๆ สวมรองเท้าแตะ เดินมาโรงเรียนด้วยระยะทาง 2 กิโลเมตรทุกวัน กลายมาเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ต้นแบบในการเรียนรู้ของเด็กๆ นักเรียนชาวเขาในถิ่นทุรกันดารอย่างทุกวันนี้
ครูมะปราง เล่าถึงตอนที่ได้เป็นเด็กในความอุปการะว่า “มันเป็นโอกาสที่ดีมากเลย จากเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีอะไร โครงการนี้ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เรากล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าทำกิจกรรม ส่งเสริมทักษะต่างๆ ให้ได้มาเป็นครูอย่างทุกวันนี้ เราเคยเป็นผู้รับมาก่อน มาวันนี้เราได้เป็นผู้ให้แล้วรู้สึกภูมิใจตรงนี้”
เพราะเด็กยากไร้ต้องการเพียงโอกาสเพื่อให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ครูมะปรางเผยถึงแรงบันดาลใจที่อยากทำอาชีพครู เริ่มต้นมาจากเด็กๆ แถวบ้านที่จุดประกายให้เกิดเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ “เราเป็นคนชอบวิชาภาษาไทย เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ มีเด็กแถวบ้านที่เขามาให้เราสอนการบ้านแล้วรู้สึกชอบ เลยคิดว่าเราน่าจะไปเรียนครูได้ การที่เราเรียนครูมันสามารถพัฒนาเด็ก พัฒนาชุมชนไปเรื่อยๆ ได้ ถ้าเด็กมีความรู้ เขาก็จะดูแลตนเองได้ ดูแลครอบครัวได้”
ด้วยความมุ่งมั่นหลังจากเรียนจบ ครูมะปรางได้สอบบรรจุและมาสอนเด็กๆ นักเรียนชาวเขา ณ โรงเรียนใกล้บ้านเกิดเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายให้เด็กๆ ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และสื่อสารเป็น “วิชาภาษาไทยส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการอ่าน การเขียน เพราะว่าเด็กของเราส่วนใหญ่ยังพูดไม่ชัด ส่วนใหญ่คำพูดของเขาจะแปลภาษาไทยสลับคำ เราจะพยายามสอนให้เขาพูดอย่างชัดเจน ให้สื่อสารได้ สนับสนุนเรื่องสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เสริม”
การอุปการะเด็ก ไม่ใช่แค่เด็กคนหนึ่งที่ได้รับ แต่ขยายไปถึงเด็กรอบๆ ตัวเขา และทั้งชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน “ในหมู่บ้านมีการส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ให้ชาวบ้าน ทั้งเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ แต่ก่อนเราต้องซื้อไข่กิน แต่พอมูลนิธิฯ เข้ามาสนับสนุนทำให้เราได้กินไข่สดใหม่ทุกวัน อาชีพเสริมตรงนี้มาสนับสนุนรายได้ของครอบครัว หลายๆ บ้านยังมีการเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู อยู่ในปัจจุบัน”
ภาพของการเปลี่ยนแปลงฉายให้เห็นตั้งแต่มูลนิธิศุภนิมิตฯ เข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาในชุมชน ส่งผลให้เด็ก ครอบครัว และชุมชนอยู่ดีมีสุขมากยิ่งขึ้น จากกล้าพันธุ์เล็กๆ ได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่พึ่งพาตนเองได้ พร้อมเป็นแบบอย่างและให้ร่มเงากับกล้าพันธุ์อื่นๆ ต่อไป “เพื่อนๆ หลายคน รุ่นพี่ ต่างก็เรียนจบได้ทำงานดูแลครอบครัว ชีวิตทั้งครอบครัวเขาดีขึ้น การศึกษามันเปลี่ยนชีวิตจริงๆ รวมถึงชุมชน ด้วยคนในชุมชนมีอาชีพเสริม มีรายได้มากขึ้น” ครูมะปราง กล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม