โรคไข้เลือดออก และอุบัติเหตุอย่างเช่นการจมน้ำ การสำลักอาหาร ล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวที่อันตรายถึงชีวิตซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กอยู่บ่อยครั้ง แต่เด็กๆ สามารถป้องกันหรือรับมือกับความเจ็บป่วยนี้ได้หากพวกเขาได้รับการเสริมสร้าง ความรู้พื้นฐาน ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันเด็กจากโรคภัยและอุบัติเหตุนั้น
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้ผนึกกำลังร่วมกับ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย และ กลุ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษาโนนดินแดง ดำเนิน “โครงการยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.น้อย) โนนดินแดง บุรีรัมย์” ขึ้นเพื่อปลูกฝังความรู้และฝึกฝนเด็กนักเรียนระดับประถม 4-6 จากโรงเรียน 12 แห่งในพื้นที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ให้มีความรู้ด้านการป้องกันไข้เลือดออกที่เป็นโรคประจำถิ่นที่อันตราย พร้อมเติมทักษะพื้นฐานการปฐมพยาบาลเพื่อรับมือกับอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กในชีวิตประจำวัน โดยมี นายแพทย์นิรุตติ์ ประดับญาติ รองประธานมูลนิธิไฟเซอร์ฯ นายวีรชัย มุขะกัง ผู้จัดการกลุ่มโครงการพัฒนาฯ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มูลนิธิศุภนิมิตฯ และ นายเสนีย์ คัชมา ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษาโนนดินแดงและผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซับคะนิง เป็นประธานการจัดกิจกรรม โดยมีนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ วิทยากรจากโรงพยาบาลโนนดินแดง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโนนดินแดง มาให้ความรู้และนำนักเรียนร่วมลงมือฝึกซ้อมในฐานความรู้ที่จัดเตรียมไว้พร้อมอุปกรณ์ที่ครบครัน
เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติการปฐมพยาบาล ได้มีการแบ่งกลุ่มเรียนรู้และทำกิจกรรมเวียนในฐานเรียนรู้ 4 ฐาน ได้แก่ ฐานการป้องตนเองจากโรคไข้เลือดออกและโรคอุจจาระร่วง ฐานการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฐานการป้องกันเด็กจมน้ำและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และ ฐานการอ่านฉลากอาหารและยา (อย.น้อย) รวมถึงการให้เด็กนักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมระดมความคิดจัดทำ แผนปฏิบัติการ อสม.น้อย ในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาสาธารณสุขในโรงเรียนและชุมชน เกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่ม อสม.น้อย เฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน การจัดเวรทำหน้าที่กำจัดลูกน้ำยุงลายตามพื้นที่ที่อาจมีแหล่งน้ำขังในชุมชน และการจัดทำแผนอบรมให้กับคนในชุมชนเพื่อกระจายความรู้ที่สำคัญออกไปให้ทั่วถึง
เด็กคือวัยแห่งการเรียนรู้ที่ต้องการการออกไปเรียนรู้และเล่นนอกห้องกับเพื่อนในวัยเดียวกันตามสถานที่ต่างๆ ของชุมชนจึงทำให้พวกเขาอาจต้องเผชิญความเจ็บป่วยที่สามารถเกิดขึ้นรอบตัวได้ตลอดเวลา ทั้งจากโรคประจำถิ่น หรือจากอุบัติเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งหลายครั้งเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย
มูลนิธิไฟเซอร์ฯ และมูลนิธิศุภนิมิตฯ เล็งเห็นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันและการเสริมเกราะป้องกันเด็กๆ จากความเจ็บป่วยต่างๆ คือการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพื้นฐานการจัดการสาธารณสุข ทั้งยับยั้งไม่ให้เกิดโรคระบาดขึ้นในชุมชน และเสริมทักษะการรับมืออุบัติเหตุให้แก่ตัวเด็กเองด้วย เพราะการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของความเจ็บป่วย และมีความสำคัญถึงขั้นช่วยต่อชีวิตของผู้ประสบเหตุได้