สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียตามชายแดนไทย-เมียนมา
ประเทศไทยยังคงเผชิญการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรีย โดยเฉพาะตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก ประเทศไทยได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียปี 2560 – 2569 ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID), Asia Pacific Leaders Malaria Alliance (APLMA) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) รวมถึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยมีจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียได้ในหลายพื้นที่
ในปี 2567 แม้บางจังหวัดจะเคยปลอดมาลาเรีย แต่กลับพบการระบาดซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานมากขึ้น และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับ USAID และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อมุ่งลดการแพร่ระบาดและกำจัดเชื้อมาลาเรียในภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมี 42 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์การประเมินปลอดโรคมาลาเรีย อย่างไรก็ตาม ยังพบการแพร่เชื้อมาลาเรียใน 35 จังหวัด โดยในจำนวนนี้ มี 7 จังหวัดที่เคยปลอดเชื้อมาก่อนแต่กลับพบผู้ป่วยติดเชื้ออีกครั้ง ได้แก่ ชัยภูมิ ภูเก็ต พิษณุโลก ลำพูน กำแพงเพชร สระบุรี และสุพรรณบุรี ขณะเดียวกัน อีก 28 จังหวัดที่ยังพบการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่องในปี 2566 ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ สงขลา ยะลา นราธิวาส อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ชลบุรี ตราด จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา มุกดาหาร สุรินทร์ นครราชสีมา และน่าน
สถานการณ์โรคมาลาเรียบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากมีสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา และการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยตามแนวชายแดน เช่น จังหวัดระนอง ซึ่งแต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 10 คน แต่ในปี 2567 พบจำนวนผู้ป่วยหลักร้อยคน อย่างไรก็ตาม บริเวณชายแดนมียุงก้นปล่องเป็นพาหะหลัก ซึ่งการค้นหาผู้ป่วยอาจไม่ทันเวลา ส่งผลให้ยุงสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังและป้องกันตนเอง ส่วนการแพร่เชื้อจากป่าสู่เมืองนั้น ทีมวิจัยแมลงยังไม่พบว่า ยุงก้นปล่องจะแพร่เชื้อมายังยุงเมืองได้ หลากหลายปัจจัยทำให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น เช่น การหลบหนีจากสถานการณ์ที่ไม่สงบในเมียนมา ซึ่งต้องเดินทางผ่านพื้นที่เสี่ยงในป่าลึกก่อนเข้ามาประเทศไทย หรือการทำงานในพื้นที่การเกษตรที่มีความเสี่ยงจากการใช้เวลานอกบ้านนาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นประชากรข้ามชาติมักไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานะบุคคล สิ่งเหล่านี้ทำให้การควบคุมและป้องกันโรคเป็นไปอย่างท้าทาย
การทำงานของภาครัฐในการควบคุมโรคมาลาเรีย
แผนการป้องกันโรคมาลาเรียครอบคลุมทุกจังหวัดตามแนวชายแดน และจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ตามชายแดนก็มีแผนปลอดโรคเช่นกัน ผ่านมาตรการ 1-3-7 ซึ่งมีหลักสำคัญในการทำงานคือ การแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ป่วยภายใน 1 วัน สอบประวัติเพื่อระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน และตอบโต้สถานการณ์ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งควบคุมยุง พาหะนำโรคในพื้นที่ระบาดและเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ
ในการควบคุมโรคมาลาเรียในกลุ่มประชากรข้ามชาติ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง แบ่งประชากรข้ามชาติออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยประชากรข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 6 เดือน (ต่างชาติ 1 หรือ ต1) และกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 6 เดือนหรือข้ามพรมแดนบ่อยครั้ง (ต่างชาติ 2 หรือ ต2) กองโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่ากลุ่มที่ 2 เป็นประชากรข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ตรวจพบเชื้อ จึงเน้นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงบริเวณชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยเพื่อสามารถตรวจหาเชื้อได้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการลงโทษทางกฎหมาย ด้วยความกังวลต่อสถานะทางกฎหมายทำให้ประชากรข้ามชาติจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างเป็นทางการ และเลือกใช้วิธีรักษาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งทำให้การควบคุมโรคมีความซับซ้อนมากขึ้น แม้ชาวไทยและประชากรข้ามชาติจะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันในการควบคุมโรคมาลาเรีย แต่รัฐบาลต้องดำเนินงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ อาทิ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ดำเนินงานในจังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอน ในการเข้าถึงชุมชนประชากรข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมูลนิธิฯ ได้รับความไว้วางใจจากชุมชน และสามารถเชื่อมประสานกับกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐเข้าถึงได้ยาก
การสนับสนุนภาครัฐจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการดำเนินงานควบคุมโรคมาลาเรีย
ด้วยการทำงานผ่าน ‘โครงการกำจัดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก UNOPS ผ่านกรมควบคุมโรคและมูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้สนับสนุนการจัดตั้งสถานที่ให้สุขศึกษาและการให้คำปรึกษาด้านมาลาเรียบริเวณชายแดน (BorMECC) 11 จุด ในจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน ซึ่งให้บริการตรวจหาเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว การส่งต่อ ให้ความรู้พร้อมอุปกรณ์ป้องกัน และติดตามผลการรักษาสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ ในปี 2567 มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้อำนวยความสะดวกในการตรวจหาเชื้อและการส่งต่อแก่ประชากรข้ามชาติกว่า 45,000 คน และแจกมุ้ง 36,250 หลังในชุมชนประชากรข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม นักเรียนยังคงเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อมากเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มลูกจ้างรายวัน เนื่องจากผู้ปกครองมักให้บุตรหลานหยุดเรียนเพื่อไปทำงานในไร่ข้าวโพดในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรียสูงกว่า และมีนักเรียนบางกลุ่มเดินทางกลับบ้านในประเทศเมียนมา และกลับมาเรียนในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ในขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงชุมชน การให้ความรู้ และการแปลภาษาในระหว่างการสอบสวนโรคจากผู้ป่วย อสต. มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนประชากรข้ามชาติ ทำให้สามารถตรวจหาเชื้อในชุมชนและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม อสต. จะมีการโทรติดตามการรักษาและลงเยี่ยมบ้านด้วยตนเองเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยรับประทานยาครบถ้วน 14 วัน (เชื้อ PV) ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำใน 3 เดือนและช่วยป้องกันการดื้อยาโดยเฉพาะเชื้อ PF (กินยา 3 วัน) การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของมูลนิธิศุภนิมิตฯ กับนายจ้างในพื้นที่และผู้นำชุมชนยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประชากรข้ามชาติเข้ารับการตรวจหาเชื้อและการรักษาได้เร็วขึ้น
ข้อเรียนรู้ที่สำคัญและการนำไปปรับใช้
มูลนิธิศุภนิมิตฯ และกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้เรียนรู้ว่าการให้บริการหลังเวลาทำการในชุมชนช่วยให้ทั้งสององค์กรสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านการตรวจหาเชื้อและการแจกมุ้ง เนื่องจากประชากรข้ามชาติจำนวนมากมีภาระงานและไม่สามารถรับบริการในช่วงเวลาทำการได้ นอกจากนั้น ยังร่วมมือกันโดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ และ อสต. แชร์ตำแหน่งที่อยู่ (GPS) ของผู้ป่วยกับทีมตอบสนองของกองโรคติดต่อนำโดยแมลงเพื่อให้สามารถเร่งดำเนินการสืบสวนโรคและควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หากพบมีผู้ป่วยหลายรายที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพื้นที่การเกษตรแห่งใดแห่งหนึ่ง ทีมตอบสนองจะสามารถรุดไปตรวจสอบพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้อย่างรวดเร็ว และประการสุดท้าย มูลนิธิศุภนิมิตฯ มีการจูงใจให้ผู้คนเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีงบประมาณในการสนับสนุนของว่าง หรือของที่ระลึกระหว่างรอรับการตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็ว และจัดกิจกรรมแจกมุ้งในชุมชน ซึ่งกองโรคติดต่อนำโดยแมลงรายงานว่าเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมได้อย่างมาก