อาย (นามสมมติ) และมิน (นามสมมติ) สามีของเธอ อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่หลังเล็กบนยอดดอยในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ห่างจากชายแดนไทย-เมียนมาประมาณ 12 กิโลเมตร อายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ เกิดกลางป่าในเขตประเทศเมียนมา ปัจจุบันเธออาศัยในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว อายมีลูก 3 คน คนเล็กสุดอายุ 5 ปี ส่วนคนโตสุด 17 ปี “ตอนแรกมีลูกทั้งหมด 5 คนค่ะ แต่คนหนึ่งเสียชีวิตไป และอีกคนพี่สาวของมินรับไปเลี้ยงค่ะ” อายกล่าว เช่นเดียวกับประชากรข้ามชาติคนอื่น ๆ อายรับจ้างทำงานหลากหลายแล้วแต่ใครจะจ้างให้ทำอะไร ไม่ว่าจะขนทรายในไซต์งานก่อสร้าง ทำไร่ทำนา หรือทำงานบ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่า อายต้องยืนหยัดฝ่าฟันความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยวัณโรคตอนอายุ 25 ปี
ตอนที่อายเริ่มมีอาการปวดร่างกายครึ่งซีกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีอาการกล้ามเนื้อแขนกระตุกและไอเรื้อรัง เธอไม่แน่ใจว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากที่ไหน ชาวบ้านในชุมชนแนะนำให้ไปโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงซึ่งประชากรข้ามชาติสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งพอได้ตรวจแล้ว หมอบอกว่าอายป่วยเป็นวัณโรค อายเล่าถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการตรวจรักษาครั้งนั้น “ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่รู้ว่าต้องกินยาจะได้ดีขึ้น จะได้กลับไปทำไร่ทำนาต่อ” อายเริ่มรักษาซึ่งใช้เวลา 7 เดือนและรู้สึกดีขึ้น จากนั้น อายและสามีได้ย้ายไปอยู่ภาคใต้ตามวิถีการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติเพื่อไปทำงานภาคเกษตรที่เบตง อายเริ่มล้มป่วยอีกครั้ง แต่เธอไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่เบตงได้เพราะไม่มีเงินและติดเรื่องสถานะทางกฏหมาย มินเล่าว่าเขาถึงกับร้องไห้ออกมา แต่ยังมีหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือที่แม่ฟ้าหลวง “มันเศร้าไปหมดเลยครับ แต่อย่างไรแล้วเรารู้ว่าโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงสามารถรักษาเขาได้ฟรี เราเลยต้องกลับมาครับ”


อายกลับมาอยู่อำเภอแม่ฟ้าหลวงอีกครั้งและเริ่มรักษาวัณโรคเป็นรอบที่สอง “ตอนนั้นป่วยหนักจนทำงานไม่ได้ แต่ก็กลัวว่าลูกจะไม่มีกิน แต่ก็มั่นใจมากค่ะ ว่าหมอจะรักษาได้ จะได้กลับมาเป็นปกติ” เธอกล่าว ในช่วงนี้ ครอบครัวได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ตรวจเยี่ยมการรักษาวัณโรคที่บ้านทุก ๆ สองสัปดาห์ พร้อมมอบสิ่งของยังชีพให้ครอบครัวผ่านการสนับสนุนของกองทุนโลก “ดีใจมากที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ มาเยี่ยมตลอด และขอบคุณมาก ๆ สำหรับความช่วยเหลือ ทำให้เรามีพอกินในครอบครัวค่ะ” อายกล่าว “เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ มาเยี่ยมบ้านหลายครั้งเลยค่ะ เอาไข่ ปลากระป๋อง ข้าวสาร เกลือ เส้นก๋วยเตี๋ยวมาให้เราด้วย”
ตอนที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ไปเยี่ยมดูอาการช่วงเกือบครบระยะเวลารักษาของเธอ อายสามารถกลับไปทำงานขนทรายได้แล้ว มินกล่าวอย่างภาคภูมิใจด้วยรอยยิ้มสดใส “พอเขาเริ่มดีขึ้น เราก็ภูมิใจ รู้สึกดีใจมากที่จะมีเพื่อนออกไปทำงานด้วยกันอีกครั้ง” เมื่อถามว่าเธอฝันอยากให้ครอบครัวเป็นอย่างไรในอนาคต อายไม่ขออะไรมาก ด้วยสภาพความเป็นจริงที่เห็นอย่างแจ่มชัดในตอนนี้ “ก็ต้องสู้ต่อไปค่ะ สู้เพื่อต่อลมหายใจ หาเงินจะได้มีชีวิตต่อไป ถ้าไม่ทำงานหนัก ครอบครัวจะไม่มีอะไรกินค่ะ”

การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดไปวัน ๆ เป็นความจริงอันแสนโหดร้ายที่ประชากรข้ามชาติมากมายต้องเผชิญ ด้วยสภาพนี้ การติดเชื้อวัณโรคไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงเฉพาะกับตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่บ่อยครั้งยังหมายถึงทั้งครอบครัวต้องทนหิวโหย การทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ผ่านกองทุนโลกเพื่อสนับสนุนการคัดกรอง ตรวจหา และรักษาวัณโรค รวมถึงการสนับสนุนสิ่งของยังชีพ ช่วยต่อลมหายใจให้ประชากรข้ามชาติในอำเภอแม่ฟ้าหลวง เรื่องราวของอายเป็นเพียงหนึ่งในหลายชีวิตที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว
ในปี พ.ศ. 2567 มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ส่งเสริมความรู้การป้องกันโรควัณโรคและสุขภาพพื้นฐานแก่ประชากรข้ามชาติกว่า 10,600 คน มีการส่งต่อผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ 8,398 คนเพื่อรับการคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรค ซึ่งในจำนวนนี้ตรวจพบว่าเป็นผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท 807 คน (พบในชุมชนและได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาล) นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพพื้นฐานที่ดี มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR พ.ศ. 2567-2569 สนับสนุนโดยกองทุนโลก ยังได้จัดตั้งศูนย์บริการชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนให้เป็นจุดบริการด้านสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับประชากรข้ามชาติ โดยมีจุดบริการด้านสุขภาพ 101 แห่งทั่วประเทศ
