เด็กไทยเกือบ 1 ล้านคนไม่มีชื่อในระบบการศึกษา 32.71% หรือ 64,536 คน เป็นเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่มีชื่อตามทะเบียนราษฎร์อยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก โดย 1 ใน 3 เป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงอายุ 6-11 ปี หรือเด็กในวัยประถมศึกษา
“อุ้มผางเป็นพื้นที่สูง ห่างไกล เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา ทั้งเรื่องความยากจน และความพร้อมด้านการศึกษาสำหรับเด็กๆ ความห่างไกลและการเดินทางที่ยากลำยากทำให้เด็กที่นี่ขาดโอกาสในการศึกษา ไม่สามารถไปเรียนต่อในระดับตำบล หรือเข้าไปในอำเภอได้ ยังดีอยู่บ้างที่มีการจัดศูนย์การศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง (ศศช.-สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ กศน.เดิม) ที่เด็กประถมสามารถทำงานกับพ่อแม่ไปด้วย และมาเรียนที่นี่ได้” น.ส.พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจอมป่า อ.อุ้มผาง จ.ตาก เล่าถึงปัจจัยที่ส่งผลด้านโอกาสการศึกษาของเด็กที่อุ้มผาง
น.ส.สิริพร อายุ 21 ปี เด็กในความอุปการะมูลนิธิศุภนิมิตฯ พื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาฯ ตาก กล่าวเสริมว่า “เพื่อนๆ ในชุมชนที่ไม่ได้เรียนต่อ ก็จะมีชีวิตแบบเดิมๆ เหมือนรุ่นพ่อแม่ อายุ 18-19 ก็จะแต่งงานมีครอบครัว มีลูก ส่วนอาชีพที่ทำได้ในอุ้มผางก็จะมีแค่เป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ และทำไร่ข้าวโพด พอขาดความรู้ก็จะยากจนเหมือนเดิม ไม่มีความรู้ก็คือไม่มีโอกาสที่จะได้พัฒนาชีวิต”
อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการศึกษาของเด็กที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก คือ “ใน ศศช. (ศูนย์การศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง) มีครู 2 คนกับเด็ก 94 คน ครูต้องสอนทุกชั้นตั้งแต่เตรียมความพร้อมถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ละชั้นต้องสอน 6-8 วิชา และยังมีวิชาที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้กำหนด (กศน.เดิม) ซึ่งเป็นวิชาพวกทักษะชีวิต ทักษะอาชีพต่างๆ การทำงานจริงจะไม่ครอบคลุม ในทางปฏิบัติจะเน้นที่วิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เพื่อให้เด็กมีทักษะในการอ่านออกเขียนได้และทักษะการคิดคำนวนเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ ด้วย” นางพัชรีย์ ปานะเส็น ครู ศศช. บ้านกุยเคล๊อะ สกร.ระดับอำเภออุ้มผาง จ.ตาก
นี่คือบางส่วนจากการระดมความคิดเห็นใน การประชุมเปิดตัวและหารือ โครงการกลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบาง ณ ห้องประชุมโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยจะมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันออกแบบกลไกสนับสนุนเยาวชนเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษาและสามารถขยับสถานะทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีโจทย์หลักในการดำเนินงานคือการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ทั้งนี้ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะเป็นตัวแทนพื้นที่สูง-ห่างไกล ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา ในการดำเนินงานโครงการจะนำต้นแบบนโยบาย 2 ต้นแบบจากการศึกษาวิจัยจาก‘โครงการต้นแบบนโยบายการส่งเสริมการขยับสถานะทางสังคมของประชาชนกลุ่มฐานราก: กลุ่มเด็กและเยาวชน’ ดำเนินงานในปี 2566-2567 มาสู่การปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงให้เกิดเป็นการพัฒนากลไกและเครือข่าย เพื่อร่วมกันแก้ไขข้อท้าทายที่ส่งผลให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา คือ การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและการพัฒนาการเรียนรู้ เช่น ครู อินเตอร์เน็ต สื่อการเรียนรู้และการเดินทางที่ลำบาก
- ต้นแบบที่ 1 : ครูอาสาอย่างยั่งยืน เพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอในโรงเรียน เพื่อสามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยให้อ่านออกเขียนได้ มีแรงจูงใจในการศึกษา เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้
- ต้นแบบที่ 2 : วิทยาลัยชุมชนเพื่อพื้นที่สูง เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อมากขึ้น นอกจากจะได้อยู่ในระบบการศึกษาแล้ว เด็กยังจะได้มีทักษะอาชีพติดตัว ดำเนินงานโดยผสานความร่วมมือกับเครือข่ายความในพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ
“เด็กที่อุ้มผางพอจบ ป.6 ถึงวัยที่จะต้องไปเรียนต่อระดับมัธยม เด็กส่วนใหญ่จะไม่ไปเรียนต่อ เพราะขาดทุนทรัพย์ อ่านหนังสือไม่ได้ กลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อน เรียนไม่สนุก เด็กกลุ่มนี้ก็จะตัดสินใจไม่เรียนออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้าน การมีครูมาเพิ่มจะเกิดประโยชน์กับเด็กมาก โดยเฉพาะเรื่องการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่ก็มีปัจจัยท้าทายอื่นๆ เช่น การเดินทางที่ยากลำบาก ซึ่งถ้าเป็นคนในชุมชนก็จะไม่เกิดปัญหา ปริมาณภาระงานที่มากจากจำนวนเด็กที่ต้องดูแล รวมถึงเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกและคุณสมบัติของครูอาสาด้วย” นางพัชรีย์ ปานะเส็น ครู ศศช.บ้านกุยเคล๊อะ สะท้อนความท้าทายเกี่ยวกับต้นแบบนโยบายครูอาสาอย่างยั่งยืน
ส่วน น.ส.พันชรภรณ์ กล่าวเกี่ยวกับต้นแบบนโยบายวิทยาลัยชุมชนเพื่อพื้นที่สูง “โดยส่วนตัวเราทำงานอยู่ที่กลุ่มอาชีพการทอผ้า สำหรับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มองว่าการสร้างทักษะอาชีพให้เด็กกลุ่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่อุ้มผางส่วนใหญ่เป็นชุมชนกะเหรี่ยง เด็กผู้หญิงจะต้องอยู่กับพ่อแม่ อาชีพการทอผ้า การย้อมผ้า เป็นอาชีพที่เด็กสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ต่อยอดได้ และชาวบ้านก็มีทักษะเป็นภูมิปัญญาของชุมชนอยู่แล้วด้วย”
ด้าน น.ส.สิริพร ในฐานะเครือข่ายเด็กและเยาวชน เธอต้องการให้ทุกการดำเนินงานเป็นไปโดยมีเด็กเป็นหัวใจหลัก “กิจกรรมต่างๆ จะต้องให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เราอยากเสนอให้มีตัวแทนเด็กและเยาวชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการคัดเลือกครู ครูอาสาต้องมีการทดลองงานโดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ประเมิน รวมถึงความโปร่งใส่เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างของครูอาสาที่ต้องเป็นธรรม และมีการจ่ายเงินให้กับครูโดยตรง และเพื่อลดปัญหาการเดินทางไกล และความแตกต่างทางวัฒนธรรม และยังจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับเด็กและเยาวชนในอุ้มผาง เราอยากให้มีการพิจารณาเด็กและเยาวชนในอุ้มผางที่จบมัธยม 6 และการศึกษาระดับปริญญาตรี แม้จะจบไม่ตรงสาย ก็สามารถมาสมัครสอบเป็นครูอาสาได้ด้วย ส่วนเรื่องวิทยาลัยชุมชนฯ ก็เป็นโครงการที่มีประโยชน์ สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้ากะเหรี่ยง นำมาเป็นอาชีพ แต่ก็จะต้องมีการสอนเรื่องการจัดการทางการเงินด้วย”
อีกหนึ่งข้อเสนอแนะจาก นายอมรเทพ ศรีกนกสายชล กลุ่มคนต้นทะเล อ.อุ้มผาง จ.ตาก หนึ่งในภาคประชาสังคมที่มาร่วมในการประชุมให้ข้อเสนอแนะว่า “ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบนโยบายใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่นอกจากการคิดเพื่อให้เด็กได้เรียนแล้ว อยากให้ปลูกฝังเด็กให้รักษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์ และการรักษาและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราเห็นเด็กหลายคนที่มีการศึกษาสูงๆ เรียนจบแล้ว เขาก็ลืมวิถีชีวิต ไม่เห็นคุณค่าของชาติพันธุ์ ไม่เห็นความสำคัญของธรรมชาติ ไม่อยากให้คิดแบบนั้น แต่อยากให้คิดว่าเมื่อได้โอกาสในการเรียน จบไปจะต้องกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เราอยากให้เกิดความเจริญ ต้องเจริญทุกอย่าง คน หมู่บ้าน ธรรมชาติ เราต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เจริญอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้”
เพราะทุกๆ พื้นที่มีบริบทเฉพาะที่แตกต่างกัน ทุกเสียงและข้อเสนอแนะจากเครือข่าย คือเสียงที่จะถูกนำมาพัฒนาและปรับปรุงต้นแบบนโยบายให้กลายเป็นกลไกที่จะสามารถตอบสนองกับประเด็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่ และดึงการมีส่วนร่วมจากทุกๆ ภาคส่วนของชุมชนสู่ความร่วมมือเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบางที่อุ้มผาง… รวมถึงการนำไปเป็นต้นแบบต่อยอดสู่พื้นที่ต่างๆ ต่อไปด้วย